ประเด็นน่าสนใจ
- อาจารย์เจษฎ์ มั่นใจปลายปีนี้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นแน่
- แนะ กทม. ประชาสัมพันธ์แต่เนิ่นเพื่อจะได้รับมือได้ทัน
- ข้อเสนอที่น่าสนใจ คือปรับเปลี่ยนเวลาเข้างาน และ คิดค่าบริการรถเข้ากทม.ชั้นใน
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เรียกร้องให้ทางผู้ว่า กทม. เตรียมความพร้อมรับมือกับฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ตัวอาจารย์เจษฎา ได้มีการคาดการณ์ว่าฝุ่นดังกล่าวจะกลับมาอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้
โดยการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาดังกล่าว ทาง อ.เจษฎา ได้มีข้อแนะนำไว้ได้อย่างน่าสนใจดังนี้
1. ใช้สื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆของ กทม. ในการให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายจากฝุ่น PM2.5 แต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะกับเด็กนักเรียนในโรงเรียนของ กทม. เพื่อให้เด็กๆ และครอบครัวได้เตรียมตัวรับมือ
2. จัดเตรียมหน้ากากสำหรับกันฝุ่น แจกให้กับประชาชนที่มาติดต่อตามหน่วยงานของ กทม. รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ของ กทม. ใส่หน้ากากด้วย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กวาดขยะ ที่ต้องทำงานริมถนนทุกวัน
3. ปรับเปลี่ยนเวลาทำงานของหน่วยงานต่างๆของ กทม. ให้เหลื่อมเวลากัน เช่น หน่วยงานที่เป็นหน่วยบริการประชาชน อาจจะเปิด 8 โมงเช้า แต่โรงเรียนในสังกัด กทม. อาจจะเลื่อนไปเป็นเข้าเรียนตอน 9 โมงแทน จะได้ลดความแออัดคับคั่งบนท้องถนนของรถยนต์
4. การฉีดพ่นน้ำขึ้นฟ้านั้น ไม่อาจช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีขนาดของละอองน้ำที่ใหญ่เกินไป และฉีดได้ไม่ทั่วถึง สิ่งที่ควรทำมากกว่า คือ การฉีดน้ำล้างถนนทุกวัน ในเส้นที่มีการคมนาคมหนาแน่น เพื่อล้างฝุ่นออกไปจากพื้นถนน ก่อนที่จะลอยขึ้นฟ้าเมื่อถูกความร้อนเผา
5. ควบคุมการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ให้มีการปิดให้มิดชิดมากขึ้น ไม่ให้ฝุ่นละอองออกมาโดยง่าย และเร่งระบายรถในบริเวณดังกล่าว ไม่ให้การจราจรติดขัด
6. เอาจริงเอาจังกับการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า โดย กทม. ลงทุนปรับเปลี่ยนรถยนต์ รถบรรทุก รถขนส่ง มอเตอร์ไซค์ ในสังกัดของ กทม. ไปเป็นระบบอีวี ทั้งหมด และติดตั้งสถานีชาร์จไฟตามหน่วยงานต่างๆ
7. จัดทำรถขนส่งสาธารณะของ กทม. แบบชั่วคราว มาเสริมกับของ ขสมก. ในช่วงนี้ ให้วิ่งในเส้นทางที่ทับซ้อนกับของ ขสมก. น้อย และไปให้ทั่วถึงกรุงเทพฯ ให้มากที่สุด โดยให้ประชาชนขึ้นได้ฟรีหรือในราคาถูกเป็นเวลาชั่วคราว
8. มาตรการระยะยาว ที่อาจส่งผลกระทบสูงต่อประชาชน ได้แก่ การจำกัดจำนวนของรถบรรทุกรถขนส่งเข้ามาในกรุงเทพฯ / การปรับระบบไฟจราจรให้การเคลื่อนตัวของรถรวดเร็วมากขึ้น / การขึ้นภาษีรถยนต์ที่จดทะเบียนกรุงเทพมหานคร / เก็บค่าผ่านทางเมื่อเข้าสู่กรุงเทพฯชั้นใน ฯลฯ
ทั้งนี้การเผยข้อเสนอแนะดังกล่าว ก็เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่ว่าหากเกิดเหตุขึ้นแล้วจะสามารถรับมือได้ทัน ประชาชนจะได้ไม่ต้องวิตกกังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้น เหมือนในปีที่ผ่านมา