ไทยชนะ

เมื่อ “ไทยชนะ” ยังไม่ชนะใจคนใช้ ท่ามกลางโควิด-19 ระลอกล่าสุด

ส่วนใหญ่ระบุว่า ไม่แน่ใจว่า ยังใช้งานอยู่หรือไม่ เนื่องจากไม่ได้มีการแจ้งเตือน หรือไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนใดๆ จากระบบ

Home / NEWS / เมื่อ “ไทยชนะ” ยังไม่ชนะใจคนใช้ ท่ามกลางโควิด-19 ระลอกล่าสุด

ประเด็นสำคัญ

  • ผลสำรวจของเอ็มไทย พบว่า มีราว 76% ที่ไม่ได้สแกนในระบบไทยชนะแล้ว
  • ส่วนใหญ่ระบุว่า ไม่แน่ใจว่า ยังใช้งานอยู่หรือไม่ เนื่องจากไม่ได้รับการแจ้งเตือนใด ๆ จากระบบไทยชนะเลย แม้อยู่ในสถานที่-เวลาเดียวกับไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อ
  • บางส่วนระบุว่า หากสถานที่ใดจำเป็นต้องสแกน หรือ มีจนท. ช่วยแจ้งเตือนก็จะมีการสแกนบ่อยครั้งมากขึ้น

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ล่าสุดในประเทศไทย ยังคงมีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าจะลดลงแต่อย่างใด ซึ่งในวันนี้ (1 ก.ค. 64 ) ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม 5,533 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 264,834 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ และเกือบทั้งหมดเป็นการพบผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศไทย

ในขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลและศบค.ได้ออกมาตรการต่าง ๆ รวมถึงระบบอย่าง “ไทยชนะ” เพื่อให้ประชาชนสแกนคิวอาร์โค้ด ก่อนเข้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งในช่วงของการระบาดระลอกแรก ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีประชาชน-ร้านค้าและภาคเอกชน ร่วมลงทะเบียนและใช้บริการ โดยเปิดตัวไปเมื่อเดือน พ.ค. 2563 และมีการเปิดให้บริการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากวันที่ 26 เมษายน 2564 พบว่า เป็นช่วงเวลาที่รายงานสถิติการใช้งานไทยชนะ หายไปจากสไลด์ที่ใช้ในการแถลงสถานการณ์ในเพจศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ของศบค.

โดยในรายงานของวันที่ 26 เมษายน 2564 พบว่า มีผู้ใช้งานแล้วจำนวน 63.7 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นกว่า 5.7 หมื่นเครื่อง มีร้านค้า/กิจการต่าง ๆ ลงทะเบียนกว่า 4 แสนแห่ง และมียอดการเช็คอินผ่านแพลตฟอร์ม 85.8% และผ่านแอปฯ 14.2%

ยังมีใครใช้กันหรือไม่?

จากสถิติดังกล่าว พบว่า รายงานระบุถึงร้อยละของการเช็คอิน แต่ไม่ได้ระบุถึง “จำนวนของการเช็คอิน” ทำให้จึงเกิดคำถามขึ้นว่า “ยังมีใครใช้หรือสแกนไทยชนะอยู่ไหม?” ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 นี้ ซึ่งจากเฝ้าสังเกตตามจุดต่าง ๆ ในห้าง, ร้านค้า, ตลาด ที่เคยมีการติดป้ายให้สแกนไทยชนะ พบว่า

ในระลอกเดือน เม.ย. 64 ที่ผ่านมา พบเห็นอัตราการสแกน หรือลงทะเบียนไทยชนะน้อยกว่ามื่อปีที่ผ่านมา จากการสังเกตเทียบเคียงกันระหว่างว่าเดือน มิ.ย. 2563 และ เดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งทางเอ็มไทย ได้เปิดโพลล์ในทวิตเตอร์ เพื่อสอบถามถึงการใช้งานของแอปฯ ไทยชนะ ในช่วงที่ผ่านมา

พบว่า จากจำนวนผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่ได้ตอบผลสำรวจดังกล่าวจำนวน 4,984 บัญชี มีจำนวนถึง 76.1% ระบุว่า “ไม่ได้สแกนแล้ว” ในขณะที่มีเพียง 6.1% เท่านั้น ที่ยังคงสแกนใช้งานอยู่

ในขณะที่ผู้ที่มีใช้งานอยู่บ้างในบางครั้ง จำนวน 17.7% โดยระบุว่า หากไปในพื้นที่ที่มีการบังคับ หรือจำเป็นต้องสแกน ก็ยังคงใช้งานอยู่ หรือหากไม่ลืม, ไม่มีคนรอคิวเยอะ ก็จะสแกนใช้งานอยู่

แต่หากมีคนเยอะ หรือว่า รีบ ก็จะไม่ได้สแกนไทยชนะ หลายคนให้ความเห็นว่า หากสถานที่ไหน มีเจ้าหน้าที่ – รปภ. แจ้งก่อนเข้าสถานที่ ก็จะทำให้สแกนบ่อยครั้งมากขึ้นด้วย

ประชาชนตั้งคำถาม “ใช้งานได้อยู่ไหม?”

จากโพลล์ดังกล่าว และได้ค้นหาคำตอบว่า ทำไมหลายคนถึงไม่ได้ใช้งาน พบว่า ผู้ที่ไม่ได้ใช้งานส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ไม่แน่ใจว่า ระบบไทยชนะ ยังคงใช้งานอยู่หรือไม่ เพราะเมื่อสแกนไปแล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรแจ้งกลับมาแต่อย่างใด หลายคนอยู่ในพื้นที่ที่มีการพบการติดเชื้อในพื้นที่ แต่ระบบหรือแอปฯ ไม่ได้มีการแจ้งเตือนให้เข้ารับการตรวจ หรือแจ้งข้อมูลใด ๆ หรือในบางกรณีพบว่า ในสถานที่มีผู้ใช้บริการอยู่ แต่กลับแจ้งในระบบเป็น 0 จึงทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่า ระบบยังใช้อยู่อีกหรือไม่

ในส่วนของผู้ที่ระบุว่า ยังคงสแกนอยู่ ยังคงคาดว่า ระบบจะมีการแจ้ง หรือ หากตัวเองมีความเสี่ยงจะได้รับแจ้ง บางส่วนไม่อยากลงชื่อในสมุด เป็นต้น

อนาคตของไทยชนะ?

สำหรับการใช้งานไทยชนะ ท่ามกลางสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ทำให้มีบางส่วนที่ตั้งคำถามถึงการใช้งานไทยชนะ ที่เริ่มห่างหายไป ควรจะยังคงใช้ต่อไปหรือไม่ และมันจะมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งานที่เป็นประชาชนอย่างไร

นั่นคือคำถามที่หลายคนยังคงสงสัยว่า ควร หรือไม่ควรใช้งานต่อไปหรือไม่ ซึ่งหากระบบสามารถใช้งานได้ มีการแจ้งเตือนข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ หรือแจ้งเตือนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ได้ ก็เชื่อว่าหลายคนน่าจะกลับมาใช้งานอีกครั้งได้ในที่สุด