ประเด็นที่น่าสนใจ
- สธ. เผยกรณี ยาไอเวอร์เม็กติน ยับยั้งโควิดแค่ในหลอดทดลอง ยังไม่มีข้อมูลวิจัยที่ชัดเจน
- เบื้องต้นพบว่า ยาไอเวอร์เม็กตินเสริมฤทธิ์กับยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในประเทศไทย
- กรมการแพทย์ ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช ทำการศึกษายาไอเวอร์เม็กตินในผู้ป่วย COVID-19
…
สธ.กล่าวถึงกรณี “ยาไอเวอร์เม็กติน” เป็นยาฆ่าพยาธิ มีการศึกษาช่วยยับยั้ง COVID-19 เเจง ข้อมูลวิจัยยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ
วันนี้ (30 มิ.ย.2564) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวกรณีสังคมออนไลน์แชร์ข้อมูลงานวิจัยยาไอเวอร์เม็กติน รักษาและลดการเสียชีวิตผู้ป่วย COVID-19 ว่า ยาไอเวอร์เม็กตินเป็นยาฆ่าพยาธิ ในต่างประเทศมีการศึกษาว่าช่วยยับยั้งเชื้อไวรัส COVID-19 ในหลอดทดลอง
ส่วนข้อมูลงานวิจัยว่า ลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย COVID-19 นั้น เป็นการศึกษาโดยการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวกับยาไอเวอร์เม็กตินในผู้ป่วยทั้งหมดที่สืบค้นได้แล้วนำมาวิเคราะห์ผล ทว่า งานวิจัยที่รวบรวมมีวิธีการศึกษาแตกต่างกัน ใช้ปริมาณยาต่างกัน หรือมีการใช้ร่วมกับยาตัวอื่น จึงส่งผลต่อการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ศึกษาทบทวนจึงสรุปว่า อาจจะลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย COVID-19 ได้
ทั้งนี้ แนวทางการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ผู้เชี่ยวชาญทั้งของกรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย หารือถึงองค์ความรู้เพื่อจัดทำแนวทางการรักษาโรค COVID-19 ล่าสุดคือฉบับที่ 15 วันที่ 25 มิ.ย.2564 จึงระบุในหมายเหตุว่า
“ข้อมูลทางวิชาการยังไม่ชัดและขัดแย้งกันอยู่ มีทั้งรายงานที่ใช้แล้วได้มีประโยชน์ บางรายงานพบว่ามีโทษ หรืออาจทำให้แย่ลง จึงยังสรุปไม่ได้ชัดเจน ซึ่งข้อมูลการศึกษาในหลอดทดลองเบื้องต้นว่า ยาไอเวอร์เม็กตินเสริมฤทธิ์กับยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในประเทศไทย”
ผลการยาไอเวอร์เม็กตินยังไม่มีความชัดเจน
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การศึกษาเป็นแบบ Real World Study ต้องศึกษาในคนจำนวนมากอาจต้องเป็นหลักพันคนขึ้นไป ก็จะมีความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ ก็จะศึกษาผู้ป่วยในพื้นที่ กทม. โดยแบ่งกลุ่มที่รับยาตามแนวทางรักษามาตรฐานร่วมกับยาไอเวอร์เม็กติน และกลุ่มที่รับยาตามมาตรฐานอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม ปกติการใช้ยาไอเวอร์เม็กตินรักษาพยาธิ จะให้ยา 2 เม็ด เป็นเวลา 2 วัน แต่การนำมาใช้กับโควิดต้องใช้นานกว่านั้น ซึ่งผลระยะยาวแม้มีคนบอกว่ายานี้ค่อนข้างปลอดภัย แต่มีรายงานว่าอาจมีปัญหาเรื่องตับได้ ส่วนที่มีคนอ้างว่าอินเดียเคยใช้ จริงๆ แล้วเคยใช้อยู่พักหนึ่ง และรัฐบาลอินเดียประกาศเลิกใช้แล้ว เนื่องจากข้อมูลยังไม่ชัดเจน จึงขอให้หยุดใช้จนกว่าจะมีหลักฐานชัดเจน
ดังนั้น กรมการแพทย์ จึงร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช ทำการศึกษายาไอเวอร์เม็กตินในผู้ป่วย COVID-19 โดยจะนำข้อมูลการศึกษาวิจัยที่ได้ดำเนินการมาวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน นอกจากนี้ กรมการแพทย์ยินดีที่จะสนับสนุนการดำเนินการและร่วมในโครงการวิจัยยาไอเวอร์เม็กตินในผู้ป่วย COVID-19 กับทุกหน่วยงาน