ปริมาณน้ำในเขื่อน ฝนทิ้งช่วง

กรมชลฯ ขอความร่วมมือ “ประหยัดน้ำ” เหตุน้ำในเขื่อนมีน้อย/ฝนทิ้งช่วง

สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก มีน้ำใช้ได้เพียง 1,137 ล้าน ลบ.ม. (ราว 4%) เท่านั้น

Home / NEWS / กรมชลฯ ขอความร่วมมือ “ประหยัดน้ำ” เหตุน้ำในเขื่อนมีน้อย/ฝนทิ้งช่วง

ประเด็นสำคัญ

  • สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก มีน้ำใช้ได้เพียง 1,137 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นราว 4% เท่านั้น
  • ปริมาณฝนที่ตกลงมาตั้งแต่ 1 พ.ค. – 26 มิ.ย. 64 มีน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักรวมกันเพียง 785 ล้าน ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์น้อย
  • ในขณะนี้เข้าสู่ภาวะฝนทิ้งช่วง โดยคาดว่าจะมีฝนอีกครั้งในช่วงกลางเดือน ก.ค. 64

กรมชลประทาน ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาใช้น้ำอย่างประหยัด หลังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักอยู่ในเกณฑ์น้อย ในขณะที่ต้องระบายน้ำไปไล่ความเค็ม ช่วยเหลือการผลิตน้ำประปาในหลายพื้นที่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ย้ำจะบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ณ วันที่ 1 พ.ค. 64 ซี่งเป็นวันเริ่มต้นฤดูการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีน้ำใช้การได้ประมาณ 2,265 ล้าน ลบ.ม. โดยมีการจัดสรรน้ำในทุกกิจกรรมตามแผนที่วางไว้มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ (27 มิ.ย. 64) คงเหลือน้ำใช้การได้เพียง 1,137 ล้าน ลบ.ม. และนับตั้งแต่เข้าสู่ฤดูฝนเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา การกระจายของฝนอยู่ในเกณฑ์น้อย ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนต่างๆน้อยตามไปด้วย โดยตั้งแต่ 1 พ.ค. – 26 มิ.ย. 64 มีน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักรวมกันเพียง 785 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อย

ในขณะที่มีการระบายน้ำไปใช้แล้วรวมกันกว่า 1,715 ล้าน ลบ.ม. และกรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนว่าในช่วงกลางเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนกรกฎาคม ปริมาณฝนจะลดลงและเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ประกอบกับมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีไปแล้วกว่า 4.70 ล้านไร่ และมีพื้นที่หลายแห่งเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในการผลิตประปา รวมไปถึงสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ส่งผลกระทบต่อน้ำดิบผลิตประปาของการประปานครหลวง(กปน.) ทำให้ต้องระบายน้ำเพิ่มจากแผนที่วางไว้ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้

 เขื่อนปริมาตรน้ำในอ่างฯ (%รนก.)ใช้การได้จริง
เขื่อนภูมิพล4,135 (30.72%)335 (2%)
เขื่อนสิริกิติ์3,404 (35.79%)554 (6%)
เขื่อนแควน้อย225 (23.93%)182 (19%)
เขื่อนป่าสักฯ91 (9.46%)88 (9%)
รวมน้ำใช้การของ 4 เขื่อนหลัก
(ลุ่มน้ำเจ้าพระยา)
7,855 (15%)
(ล้าน.ลบ.ม)
1,159 (5%)
(ล้าน.ลบ.ม)

เขื่อนน้ำน้อยวิกฤต
  • เขื่อนภูมิพล (2%)
  • เขื่อนทับเสลา (4%)
  • เขื่อนศรีนครินทร์ (5%)
  • เขื่อนคลองสียัด (5%)
  • เขื่อนสิริกิติ์ (6%)
  • เขื่อนวชิราลงกรณ (6%)
  • เขื่อนป่าสักฯ (9%)
  • เขื่อนขุนด่านปราการชล (12%)
  • เขื่อนอุบลรัตน์ (13%)
  • เขื่อนแม่กวง (16%)
  • เขื่อนสิรินธร (17%)
  • เขื่อนกระเสียว (17%)
  • เขื่อนแควน้อย (19%)

* (%ใช้การฯ)


จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมชลประทาน ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเกษตรกรในหลายพื้นที่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภายใต้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด พร้อมทั้งได้ประสานขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ชี้แจงประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ทุกภาคส่วนรับทราบอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าจะบริหารจัดการน้ำภายใต้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ ตามข้อสั่งการของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่ากการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อฝ่าวิกฤตภัยแล้งนี้ไปด้วยกัน หากหน่วยงานใดหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา