ประเด็นที่น่าสนใจ
- ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อ 4,108 ราย อาการหนัก 1,564 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย
- จุฬาฯ ปิด จุดคัดกรองโควิด-19 เป็นเวลา 4 วัน เหตุจากไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย
- จุฬาฯ เผย ผู้ป่วยหลายรายอาการหนัก เเต่ไม่มีเตียงรองรับ ซึ่งทุกโรงพยาบาลน่าจะเหมือนกันหมด
…
ศบค. เผย ยอดผู้ติดเชื้อ 4,108 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 1,564 ราย เเละเสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย
วันนี้ (24 มิ.ย. 64) แพทย์หญิง อภิสมัย ศรีรังสรรค์ รองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงข่าวจากทำเนียบรัฐบาล รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้
ผู้ป่วยติดเชื้อ
- ติดเชื้อในประเทศ 3,865 ราย
- ติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 229 ราย
- ติดเชื้อจากต่างประเทศ 14 ราย
- รักษาหายเพิ่มขึ้น 1,578 ราย
- อยู่ระหว่างรักษาตัว 39,517 ราย
- แบ่งเป็นในโรงพยาบาล 13,320 ราย
- โรงพยาบาลสนาม 26,197 ราย
ในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1,564 ราย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 445 ราย
ยอดผู้เสียชีวิต
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 31 ศพ
- ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,775 ศพ (ตั้งแต่ปี 2563)
- ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 232, 647 ราย
ผู้ติดเชื้อรายใหม่
- ผู้ป่วยรายใหม่ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,835 ราย
- ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,030 ราย
- เรือนจำ/ที่ต้องขัง 229 ราย
- ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 14 ราย
จุฬาฯ ปิด จุดคัดกรองโควิด-19 เป็นเวลา 4 วัน เหตุจากไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย ขณะนี้ผู้ป่วยที่มาส่วนมากมีอาการปวดบวม
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า บริการคัดกรองโควิด-19 จุฬาปิด 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 24-27 ไม่มีเตียงรับ แต่คนไข้ก็มาที่ ER หรือ แผนกฉุกเฉิน (Emergency department) อยู่แล้ว เพราะไปที่อื่นก็ไม่ได้ตรวจเช่นกัน
เนื่องจากตรวจแล้วต้องรับ ไม่มีเตียง ไม่มีคนดู เลยกลายเป็นมีอาการก่อน จึงมา ER ชึ่งล้วนมีอาการปอดบวมแล้ว และอาการหนัก ไม่มีเตียงอยู่ดี ซึ่งทุกโรงพยาบาลน่าจะเหมือนกันหมด
- โรงพยาบาลสนามสีแดง เปิดได้แล้วที่รักษาคนไข้อาการหนัก จนกระทั่งสอดท่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ปัญหาคือเอาหมอพยาบาลและเจ้าหน้าที่มาจากไหน เพราะแต่ละจังหวัดเตรียมตัวรับได้เลยอีกไม่นานอาจจะเหมือนกัน
- การคัดกรองที่ทำมาตลอดเชิงรับตั้งแต่ปีที่แล้วถึงปัจจุบันมีรุกเป็นบางจุด ส่งผลให้เห็นชัดเจนว่าไม่สามารถป้องกันการระบาดได้และยกระดับเป็นอาการหนักทั้งหมด
- วัคซีนที่ใช้ในโลกแห่งความจริง เห็นแล้วว่ามีติดได้ ถึงแม้จะน้อยลงแต่ข้อสำคัญคือเมื่อติดแล้วยังแพร่ต่อได้ปริมาณไวรัสมีจำนวนสูงจนน่าตกใจ ส่วนอาการอาจจะลดทอนลงบ้างแต่คงต้องห้ามทะนงตัวเด็ดขาด
- ทุกคนในโรงพยาบาลทั้งคนรักษาพยาบาลและคนป่วยมีสิทธิ์ติดเชื้อได้หมดแม้ดูเหมือนคนปกติ
- สถานการณ์โควิด-19 ในเชิงตั้งรับมาตลอดเช่นนี้มาหนึ่งปีครึ่ง เหมือนกับหลายประเทศที่ผ่านมา มนุษย์ไม่เคยเรียนจากความผิดพลาด ต้องการแต่คำสรรเสริญความสำเร็จ