ประเด็นน่าสนใจ
- “เปอร์โตริโก” กำลังเข้าสู่ภาวะล้มละลาย
- ประชาชนใน “เปอร์โตริโก” มักจะมีหนี้กว่าคนละหลักล้านบาท
- ไม่มีองค์กรกรือประเทศใดให้เงิน “เปอร์โตริโก” กู้ยืม เพราะเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้สูง
เว็บไซต์ “ลงทุนแมน” เปิดเผยเรื่องราวของประเทศ “เปอร์โตริโก” ดินแดนที่กำลังเข้าสู่ภาวะล้มละลาย เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นคนแก่ ผู้ใหญ่ หรือแม้แต่เด็กเกิดใหม่ ทุกคนที่นี่จะมีหนี้คนละ 1.2 ล้านบาท
เปอร์โตริโก มีประชากรประมาณ 3.2 ล้านคน มีมูลค่า GDP เท่ากับ 3.2 ล้านล้านบาท เมื่อคิดดูแล้ว GDP ต่อคนต่อปีเท่ากับ 1,000,000 บาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 83,300 บาท ทำให้เปอร์โตริโกเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีรายได้สูง แต่ถึงแม้จะมี GDP ต่อหัวมากขนาดนี้ แต่เปอร์โตริโก ก็มีหนี้สินที่สูงด้วยเช่นกัน
หนี้สินของเปอร์โตริโกมีทั้งหมดเท่ากับ 3.8 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 119% ของ GDP จนทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องเข้ามากำกับดูแลแผนปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลเปอร์โตริโก ส่วนต้นตอของปัญหาต้องย้อนกลับไปในปี 1973 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลของเปอร์โตริโกเริ่มที่จะใช้จ่ายเงินมากกว่าที่สามารถหาได้
ปี 2006 เปอร์โตริโกประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย การว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่รัฐบาลก็มีภาระหนี้สินในระดับสูง ทำให้ไม่มีงบประมาณและไม่มีสภาพคล่องเพื่อมาแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในขณะนั้น ข้าราชการจำนวนกว่า 100,000 คน ไม่ได้รับเงินเดือน และโรงเรียนกว่า 1,500 แห่งต้องปิดตัวลง
ในปี 2014 สถาบันจัดอันดับเครดิต S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลเปอร์โตริโกไปสู่ระดับ Junk Bond ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง สิ่งที่ตามมาคือ ไม่มีใครให้เงินรัฐบาลเปอร์โตริโกกู้ยืมอีก
จนปี 2015 รัฐบาลเปอร์โตริโกต้องประกาศว่า ไม่สามารถชำระหนี้สินแก่เจ้าหนี้ได้ และปี 2017 รัฐบาลต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ซึ่งนับเป็นหนึ่งในกรณีที่มีการยื่นล้มละลายสูงสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา