ติดตั้งจีพีเอส

คมนาคม เตรียมบังคับให้ รถยนต์-รถจักรยานยนต์ ติดตั้ง “จีพีเอส”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่กรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วย นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์…

Home / NEWS / คมนาคม เตรียมบังคับให้ รถยนต์-รถจักรยานยนต์ ติดตั้ง “จีพีเอส”

ประเด็นน่าสนใจ

  • ศักดิ์สยาม ลุยตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่กรมการขนส่งทางบก
  • คมนาคมได้สั่งให้ขนส่งทางบกไปศึกษาต่อยอดการใช้จีพีเอสกับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่กรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วย นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และนางสาวกอบกุล โมทนา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม

โดยมี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก ให้การต้อนรับ ในวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ณ กรมการขนส่งทางบก

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ได้ตรวจเยี่ยมการทำงานของกรมการขนส่งทางบก ประกอบด้วย ศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS และศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน (ศูนย์ 1584) และประชุมผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับสำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ

โดยได้มอบนโยบายกรมการขนส่งทางบก ดังนี้

1.การนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการรถสาธารณะด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความสะดวกให้ประชาชนในการใช้บริการรถโดยสาร รถบรรทุก รถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์

2.พิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ให้บริการรถสาธารณะ โดยจัดให้มีการ Work Shop ร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ให้บริการ ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้กับผู้ให้บริการ

3.มาตรการทดสอบสมรรถภาพผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถโดยสารสาธารณะ และตรวจสภาพรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบให้ครบ 100% และดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่อง ส่วนมาตรการจุดจอดพักรถโดยสารสาธารณะ (Checking Point) ทุกระยะทาง 90 กิโลเมตรนั้น ขอให้มีการดำเนินมาตรการอย่างจริงจังต่อเนื่องเช่นกัน

นอกจากนี้ ให้รับฟังปัญหา อุปสรรค จากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานขนส่งจังหวัดได้รายงานปัญหา 3 ประเด็น ได้แก่ ปัญหาเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ปัญหางบประมาณจำกัด และปัญหาอุปกรณ์การตรวจสอบชำรุด จึงให้ทำเรื่องมาขอรับการสนับสนุนยังกรมการขนส่งทางบกต่อไป

4.ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เข้มข้น กับรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะกรณีกระทำผิดซ้ำ ให้ลงโทษในอัตราโทษสูงสุด ทั้งนี้ ให้กรมการขนส่งทางบกศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรและขนส่ง

โดยหากประชาชนแจ้งเบาะแสเข้ามา เจ้าหน้าที่จับกุมตรวจสอบแล้วเป็นผู้กระทำผิดจริง ผู้แจ้งเบาะแสได้จะรับส่วนแบ่งรางวัลนำจับ ว่าสามารถกระทำได้หรือไม่ เพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยตรวจสอบ

5.การปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน โดยให้ปรับปรุงเส้นทางให้ทับซ้อนกันน้อยที่สุด

6.เร่งรัดศึกษาการจัดให้มีสถานีขนส่งสินค้าชานเมืองกรุงเทพฯ เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 3 แห่ง (พุทธมณฑล คลองหลวง และร่มเกล้า) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพ ลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และรองรับนโยบายการจำกัดเวลารถบรรทุกเข้าเขตกรุงเทพฯ

7.เร่งแก้ไขปัญหามลภาวะ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างจริงจัง โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบไม่ให้มีรถโดยสารสาธารณะที่มีควันดำ หากพบเห็นให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

8.การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากรถทุกประเภท ควรปลูกฝังทัศนคติ/จิตสำนึก ให้เยาวชน ประชาชนทุกคนตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของรถทุกประเภทให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

9.การแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาใช้แก้ไข ควบคุม ตรวจสอบ

10.กรมการขนส่งทางบกต้องสร้างการรับรู้ ความเข้าใจกับประชาชนและผู้ประกอบการ เกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากมาตรการ นอกจากนี้ ให้ตรวจสอบและตอบสนองต่อประเด็นต่าง ๆ ด้วยความรวดเร็ว พร้อมรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่าน Social Media อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ได้เปิดเผยภายหลังว่า ได้มอบให้กรมการขนส่งฯ ไปศึกษาการกำหนดให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ (จีพีเอส) เพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ ได้ดำเนินการกับรถ 4 ประเภท ได้แก่ รถบรรทุก รถตู้โดยสาร รถรับจ้างสาธารณะ และรถโดยสารขนาดใหญ่

พร้อมให้ไปศึกษาเรื่องราคา ระบบการติดตั้งจีพีเอส ซึ่งปัจจุบันราคาอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท และบริการหลังติดตั้งอยู่ที่เดือนละประมาณ 300-400 บาท แม้ราคาปัจจุบันจะถูกลงกว่าอดีต แต่ต้องพิจารณาให้มีราคาถูกลงอีก และให้หารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมภายในเดือน ต.ค.นี้ เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการ และระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนและเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปีนับจากนี้ ในส่วนรถเก่าที่ยังไม่ได้ติดตั้ง จะพยายามดำเนินการหามาตรการบังคับใช้

เพื่อเร่งลดอุบัติเหตุ เนื่องจากสามารถควบคุมความเร็วรถและตรวจสอบข้อมูลการขับขี่ได้ รวมทั้งการตั้งด่านสกัดจับเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น