คลอร์ไพริฟอส พาราควอต แบน ไกลโฟเซต

4 ข้อสงสัย หลังรัฐแบน “พาราควอท-ครอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต”

วานนี้ หลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ประชุมพิจารณาการยกเลิก 3 สารเคมีอันตราย ก่อนจะมีมติในที่ประชุม ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตราย ได้แก่ พาราควอต , คลอร์ไพริฟอส , ไกลโฟเซต…

Home / NEWS / 4 ข้อสงสัย หลังรัฐแบน “พาราควอท-ครอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต”

ประเด็นน่าสนใจ

  • หลังจากเมื่อวานนี้ มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยกเลิกสารเคมีอันตราย 3 ตัว
  • ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรในด้านการแข่งขัน ต้นทุน ราคาสินค้า เพิ่มขึ้น
  • ผลกระทบสำหรับผู้บริโภค สินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น อาหารแพงขึ้น
  • ประเทศไทยอาจจะไม่ได้ปลอดสารพิษอย่างแท้จริง

วานนี้ หลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ประชุมพิจารณาการยกเลิก 3 สารเคมีอันตราย ก่อนจะมีมติในที่ประชุม ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตราย ได้แก่ พาราควอต , คลอร์ไพริฟอส , ไกลโฟเซต

แบน 3 สารเคมีเกษตร

คณะกรรมการวัตถุอันตราย ประชุมพิจารณาการยกเลิก 3 สารเคมีเกษตรอันตราย ล่าสุด …[อ่านต่อ]

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการเรียกร้องให้แบนสารเคมีดังกล่าว เนื่องจากมีรายงานระบุถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากสารเคมีทั้ง 3 ตัวนี้ และมีหลายประเทศได้มีการดำเนินการแบนสารเคมีเหล่านี้แล้ว

แต่แน่นอนว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตกับภาคเกษตรกรไทย จะเป็นอย่างไรต่อไป หลังจากมีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ตัว พาราควอต , คลอร์ไพริฟอส , ไกลโฟเซต

เกษตรกรไทยกระทบไหม?

สารเคมี จำนวน 2 ใน 3 คือ พาราควอต , ไกลโฟเซต เป็นยาปราบวัชพืช หรือเรียกง่ายๆ ตามภาษาที่เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้กันคือ ยาฆ่าหญ้า โดยเฉพาะ พาราควอท หรือมีชื่อทางการค้าที่รู้จักและเป็นที่นิยมกันคือ กรัมม๊อกโซน ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรส่วนใหญ่ ระบุว่าได้ผลดี

ข้อควรรู้ –

สารเคมีที่ใช้กำจัดวัชพืช จำนวนไม่น้อย ไม่ได้ใช้แค่ในภาคเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่ในพื้นที่ กรุงเทพ – ปริมณฑล ได้มีการนำมาใช้งาน ในการพ่น-ราด เพื่อกำจัดวัชพืชบนพุตบาท – ทางเท้า หรือ ขอบทางอีกด้วย

แน่นอนว่า หลังจากการแบนสารเคมีดังกล่าวออกมา ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เกษตรกรจำเป็นต้องเลือกใช้สารเคมี หรือเลือกใช้วิธีการอื่นในการกำจัดวัชพืชแทน โดยทางเลือกหลักๆ ประกอบไปด้วย

  • การเลือกใช้วิธีทางธรรมชาติ เช่น การไถกลบ
  • การใช้แรงงานคนในการกำจัดวัชพืช เช่น การถาง
  • การใช้สารตัวอื่นอย่างเช่น กลูโฟสิเนต
  • สารชีวภาพกำจัดวัชพืช เช่น น้ำหมักชีวภาพ, จุรินทรีย์ต่างๆ

ซึ่งจากแนวทางในการแก้ไขดังกล่าว สิ่งที่เกษตรกรวิตกคือ “ต้นทุน” ของสินค้าเกษตรที่จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการใช้ไถกลบ หรือการใช้แรงงานคน ในการกำจัด ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบ ซึ่งปัจจุบัน แรงงานในภาคเกษตร มีจำนวนไม่เพียงพอ เนื่องด้วยหลายๆ ปัจจัย

การใช้สารตัวอื่น เช่น กลูโฟสิเนต หรือน้ำหมักทางชีวภาพต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งประสิทธิภาพที่ด้อยกว่า จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นด้วยเป็นเงาตามตัวนั่นเอง

นอกจากนี้ ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีสินค้าเกษตรในการส่งออกเป็นจำนวนไม่น้อย การที่ต้นทุนทางการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ย่อมกระทบต่อ “ความสามารถในการแข่งขัน” ในตลาดการค้าของโลกอีกด้วย

ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยในอนาคตคือ

  • ต้นทุนภาคเกษตรที่สูงขึ้น
  • การแข่งขันกับเพื่อนบ้าน-คู่แข่ง ในตลาดโลก ในแง่ของราคาสินค้ายากขึ้น

หรืออีกทางหนึ่ง ประเทศไทยก็จำเป็นจะต้องมุ่งหน้าสู่ “ประเทศเกษตรอินทรีย์” ซึ่งแน่นอนว่า ราคาผักปลอดสารพิษ ดูจะไม่เป็นมิตรกับกระเป๋าผู้บริโภคส่วนใหญ่

ผู้บริโภคได้รับผลกระทบอะไร?

แน่นอนว่า เมื่อต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น คนไทยทั่วไปอย่างเราๆ ก็จำเป็นจะต้องปรับตัวให้พร้อมกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ

“ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น
เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น”

ซึ่งผลกระทบจากผัก-สินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาอาหารที่หลายๆ คนเลือกบริโภคในแต่ละวัน

ข้อควรรู้ –

2 ใน 3 สารเป็นสารกำจัดวัชพืช หรือ ยาฆ่าหญ้า ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรใช้ “ก่อน” การปลูกพืชเป็นหลัก และเลี่ยงมิให้โดนพืชที่ปลูกไว้ เนื่องจากจะทำให้พืชปลูกไว้เสียหาย จากสารเคมีกำจัดวัชพืชเหล่านั้นนั่นเอง

ส่วนสารเคมีที่พบในผักส่วนมาก มักจะเป็นเป็นสารกำจัดแมลง ที่มักจะมีการใช้ระหว่าง หรือ ก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต

คนไทยจะได้กินอาหารที่ปลอดภัยขึ้น?

สิ่งที่ที่หลายคนเชื่อว่า เมื่อมีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ตัวนี้ ประเทศไทย “น่าจะ” ปลอดภัยขึ้น สินค้าเกษตรที่นำมาใช้บริโภคจะมีสารพิษลดน้อยลง

ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับกันว่า ประเทศไทย มีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงประเทศจีน* ที่มีสินค้าจำนวนไม่น้อยถูกนำเข้ามา ซึ่งในละแวกเพื่อนบ้านของไทย เวียดนาม ดูจะเป็นประเทศเดียวที่แบนสารเคมีทั้ง 3 ตัวนี้

* จีน มีแผนที่จะแบนพาราควอทในปี 2563

จากรายงานของ FAO หรือ องค์การอาหารโลกและเกษตรกรรม ระบุว่า ประเทศไทยใช้ ราว 0.14 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศในอาเซียนด้วยกันอยู่ที่ 0.16 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น

  • พม่า ใช้ยาฆ่าแมลง ~ 0.15 กิโลกรัม/ไร่
  • มาเลเซีย ใช้ยาฆ่าแมลง ~ 0.94 กิโลกรัม/ไร่
  • เวียดนาม ใช้ยาฆ่าแมลง ~ 0.26 กิโลกรัม/ไร่

ดังนั้น เมื่อต้นทุนสินค้าเกษตรภายในประเทศ ที่ผลิตโดยเกษตรกรไทย มีราคาสูงขึ้น ผู้ค้า-ตลาด ก็จะหันไปมองหาสินค้าเกษตรจาประเทศเพื่อนบ้าน และคาดว่า “น่าจะมีการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น” ซึ่งนั่น มิได้หมายความว่า อาหารในประเทศไทยจะ “ปลอดสารพิษ”

สถิติการนำเข้าสินค้าจำพวก ผัก-ผลไม้

ข้อควรรู้ –

ผักไฮโดรโปนิกส์ จะปลอดจากสารพิษ ไม่ว่าจะเป็นยากำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผักไฮโดรโปนิกส์ จำเป็นจะต้องมีการ “ถ่ายน้ำ” จากปุ๋ย A/B มาเป็น “น้ำเปล่า” เพื่อกำจัดในเตรท ในผัก ก่อนการจำหน่าย 3-5 วัน

หากไม่ดำเนินการ จะทำให้ปริมาณไนเตรตในผักมีสูง ซึ่งกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภค

สารเคมีภาคเกษตรหมดไปจริงหรือ?

สำหรับในภาคเกษตร หลังจากที่สารเคมีทั้ง 3 ตัวถูกแบน ห้ามใช้ สิ่งที่เกิดขึ้นในทางเลือกแรกๆ ของเกษตรกร คือการเปลี่ยนสารเคมีไปใช้ตัวอื่น ที่มิได้ถูกห้าม เช่น

กลูโฟสิเนต ที่ยังคงสามารถใช้งานได้นั้น นอกจากมีราคาแพงกว่า พาราควอทแล้ว ยังมีประสิทธิภาพที่ด้อยกว่า อีกด้วยเมื่อเทียบกับพาราควอท ดังนั้น สิ่งที่รัฐควรจะเฝ้ามองในลำดับต่อไป หลังจากที่มีการแบนสารเคมีดังกล่าวคือ

การตรวจสอบปริมาณการใช้สารเคมีตัวอื่นๆ ที่อยู่ในตลาด

เนื่องด้วยประสิทธิภาพที่ด้อยกว่า จึงเป็นผลให้เชื่อได้ว่า เกษตรกรจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะใช้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นไปด้วย

นอกจากนี้ แม้ว่า ผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาล จะสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสนับสนุนการใช้สารอินทรีย์ต่างๆ ในการกำจัดวัชพืช-แมลง ในภาคเกษตร แล้ว แต่สิ่งที่คนในภาคเกษตรรอคอยคือ การสนับสนุนอย่างจริงจัง ในการใช้สารอินทรีย์ รวมถึงความเชื่อมั่นว่า สารอินทรีย์ที่ใช้ สามารถใช้งานได้จริง และมีประสิทธิภาพ

ข้อควรรู้ –

ประเทศไทยยังมีการใช้งานสารเคมี โดยเฉพาะสารเคมีกำจัดแมลงตัวอื่นๆ ที่ “มีอันตราย” กว่า คลอไพริฟอ แต่จากราคาค่อนข้างสูง จึงมีการใช้งานน้อยกว่า เรียกได้ว่า ไม่ได้รับความนิยมนั่นเอง

ญี่ปุ่น ถือเป็น 1 ในประเทศที่มีการใช้ยาฆ่าแมลงติด Top 10 ของโลก แต่ทำไมมาตรฐานสินค้าของญี่ปุ่น ยังคงอยู่?

ไม่อย่างนั้นแล้ว การแบนสารเคมีทั้ง 3 ตัวก็ไม่ต่างจากการแบน 1 ในผู้เล่นเกม และเปิดทางให้ผู้เล่นหน้าใหม่ในกระดาน เท่านั้นเอง

ข้อมูลจาก
– http://www.fao.org/faostat/en/