ข่าวต่างประเทศ สหรัฐฯ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์เดลตา โควิด-19

CDC สหรัฐฯ คาดสายพันธุ์เดลตาจะขึ้นเป็นสายพันธุ์ระบาดหลักในสหรัฐฯ

สาเหตุเนื่องจากความสามารถในการแพร่เชื้อได้ดี

Home / NEWS / CDC สหรัฐฯ คาดสายพันธุ์เดลตาจะขึ้นเป็นสายพันธุ์ระบาดหลักในสหรัฐฯ

ประเด็นสำคัญ

  • CDCD สหรัฐฯ คาดว่า สายพันธุ์เดลตา (Delta) จะกลายเป็นเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์หลัก ที่แพร่ระบาดในสหรัฐฯ
  • สาเหตุเนื่องจากความสามารถในการแพร่เชื้อได้ดี
  • สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว กว่า 316 ล้านโดส แต่แนวโน้มการฉีดต่อวันลดลงเหลือเพียงราว 1 ใน 3 ของช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาเท่านั้น

โรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) คาดการณ์ว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา (Delta) จะกลายเป็นเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์หลัก ที่แพร่ระบาดในสหรัฐฯ

วาเลนสกีเผยว่าสายพันธุ์เดลตา หรือที่รู้จักกันในชื่อบี.1.617.2 (B.1.617.2) สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ พร้อมเสริมว่าแม้มีความกังวลว่าโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา สามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว แต่วัคซีนของเรามีฤทธิ์ต่อต้านมันได้

“ตอนนี้เราต้องการให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ครบ 2 โดส เพื่อให้ต่อต้านไวรัสได้ผลดี ดังนั้นทุกคนควรเข้ารับวัคซีนโดสแรก รวมทั้งเข้ารับวัคซีนโดสสองทันทีเมื่อครบกำหนด และคุณจะปลอดภัยจากสายพันธุ์เดลตา”

เธอให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอบีซี นิวส์ (ABC News) โดยในขณะนี้ สหรัฐฯ พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ เฉลี่ยราววันละ 12,000 ราย จากที่เคยมีผู้ป่วยเพิ่มกว่าวันละ 2 แสนรายในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ยอดรวมผู้ป่วยโควิด-19 ในสหรัฐฯ สะสมอยู่ที่ 33.4 ล้านราย เสียชีวิตสะสม 6 แสนราย และได้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 316 ล้านโดส คิดเป็นประชากรที่ได้รับวัคซีนครบแล้วสูงถึง 45% หรือราว 148 ล้านคน แต่แนวโน้มการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง จำนวนวัคซีนที่ฉีดให้กับประชาชนอยู่ที่ เฉลี่ยวันละ 1.2ล้านโดส จากเดิมที่เคยสูงกว่าวันละ 3 ล้านโดส

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯ ได้ยกระดับสายพันธุ์เดลตาจาก “สายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ” (Variant of Interest) ขึ้นเป็น “สายพันธุ์ที่น่ากังวล” (Variant of Concern) แล้ว

ทุ่มกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ พัฒนา-ผลิตยาต้านไวรัส ‘โควิด-19’

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐฯ เดินหน้าลงทุนเงินมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.4 หมื่นล้านบาท) เพื่อเร่งการพัฒนาและผลิตยาต้านไวรัส

แถลงการณ์จากกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ (HHS) ของสหรัฐฯ ระบุว่าแผนการดังกล่าวมีชื่อว่าโครงการต้านไวรัสเพื่อการระบาดใหญ่ (Antiviral Program for Pandemics) มุ่งพัฒนาและผลิตยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงและรักษาชีวิตประชาชน

ขณะเดียวกันโครงการฯ จะสร้างแพลตฟอร์มที่ยั่งยืน เพื่อพัฒนายาต้านไวรัสสำหรับไวรัสชนิดอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ในอนาคตด้วย

แผนการดังกล่าวจัดสรรเงินมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.4 พันล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการวิจัยและห้องปฏิบัติการ เกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.1 หมื่นล้านบาท) เพื่อการประเมินระยะก่อนมีอาการและขณะมีอาการของโรค และอีกเกือบ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.2 หมื่นล้านบาท) เพื่อการพัฒนาและการผลิตยาผ่านสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ (NIAID) และองค์การวิจัยและพัฒนาขั้นสูงทางชีวการแพทย์ (BARDA) ของสหรัฐฯ

แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวว่ายาต้านไวรัสตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในรูปแบบยารับประทานที่สามารถกลับไปกินเองได้ที่บ้านในระยะแรกของโรค จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับการระบาดใหญ่และรักษาชีวิตประชาชน