ประเด็นน่าสนใจ
- เว็บไซต์ ลงทุนแมน ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจ ของประเทศเอกวาดอร์
- ก่อนหน้านี้รัฐบาลเอกวาดอร์ได้ตัดสินใจหยุดพยุงราคาน้ำมันในประเทศ
- การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด เป็นที่มาของ ปัญหาหนี้สินและความล้มเหลวทางเศรษฐกิจภายในประเทศเอกวาดอร์
ประเทศเอกวาดอร์ ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ มีมูลค่า GDP 3.2 ล้านล้านบาทมีประชากรประมาณ 17 ล้านคน และมีรายได้เฉลี่ยต่อคนประมาณ 189,100 บาทต่อปี แม้ว่าเอกวาดอร์จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง เป็นหนึ่งในประเทศที่มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบมากลำดับที่ 17 ของโลก และปัจจุบัน เป็นสมาชิกขององค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (OPEC) แต่การอุดหนุนพลังงานในประเทศ สร้างภาระให้แก่รัฐบาลเอกวาดอร์เฉลี่ยปีละ 42,000 ล้านบาท
เอกวาดอร์พึ่งพาการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยมีสัดส่วนถึง 40% ของการส่งออกทั้งหมด ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ปี 2014-2015 ทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำมันของประเทศลดลง จนทำให้ในปี 2016 เศรษฐกิจของเอกวาดอร์เข้าสู่ภาวะถดถอย รายได้ของประเทศที่ลดลง ขณะที่รัฐบาลยังอุดหนุนราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ทำให้หนี้สาธารณะของเอกวาดอร์ค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน หนี้สาธารณะของเอกวาดอร์เท่ากับ 1.4 ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท และทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อปลายปี 2014 อยู่ที่ 185,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้กลับเหลือเพียง 83,000 ล้านบาท ล่าสุดเอกวาดอร์จึงต้องหันไปพึ่งพาเงินกู้ยืม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จำนวนกว่า 128,000 ล้านบาท
แต่หนึ่งในเงื่อนไขของการกู้ยืมคือ รัฐบาลต้องยุติการอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศทันที และต้องลดภาระหนี้ของรัฐบาลต่อ GDP ให้เหลือเพียง 37% ภายในปี 2023 หลังจากประกาศยกเลิกอุดหนุนราคาน้ำมัน จึงทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่เอกวาดอร์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อราคาน้ำมันขึ้น ราคาสินค้าอื่นๆ ก็พุ่งสูงตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดการประท้วงและปะทะกันอย่างรุนแรงในเอกวาดอร์ ณ ตอนนี้ จนประธานาธิบดีเลนิน โมเรโน ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน
เรื่องราวของเอกวาดอร์ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มีสาเหตุสำคัญมาจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด เช่น นโยบายการอุดหนุนราคาสินค้า โดยเฉพาะด้านพลังงาน ซึ่งเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่รอวันระเบิด