ประเด็นน่าสนใจ
- หนุ่มแว่นหัวร้อน ด่ากราดคู่กรณี หลังรถป้ายแดงถูกเฉี่ยวชน
- จิตแพทย์แนะประชาชนตั้งสติ หยุดอ้างปัญหาสุขภาพจิต เป็นข้ออ้างในการทำไม่ดีต่อผู้อื่น
- ชี้กรณีหนุ่มแว่นไม่ใช่อาการโรคซึมเศร้า
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การเดินทางบนท้องถนนที่ใช้เวลานานทำให้คนมีความเครียด และอาจเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ทั้งในรูปแบบความรุนแรงทางกาย ทางวาจา หรือแม้แต่การใช้อาวุธทำร้ายร่างกายกัน ส่วนมากจากความรุนแรงเล็กๆ และขยายตัวเป็นความรุนแรงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และอาจขยายเป็นคดีความอาญาได้
การป้องกัน
- เผื่อเวลาในการเดินทาง เวลามีเหตุติดขัดจะทำให้ไม่ร้อนรน
- ตั้งสติก่อนสตาร์ท รู้ว่าตัวเองกำลังจะไปไหน มีใครรออยู่ และเตรียมสภาพกายและจิตใจ
- สร้างบรรยากาศ เช่นเปิดเพลงที่ชอบ พูดคุยเรื่องดีๆ กับคนที่โดยสารมาด้วย
- อย่าคาดหวังกับคนอื่นบนท้องถนน แต่มองการขับขี่ถูกต้องและปลอดภัยของตนเองเป็นหลัก
- เป็นคนใจดี มีน้ำใจ เคารพกฎจราจร ให้อภัย ไม่มองถนนเป็นสนามแข่งที่ต้องมาเอาชนะกัน
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ส่วนที่อ้างความรุนแรงบนท้องถนนกับอาการป่วยทางจิตนั้น สังคมไทยควรทำความเข้าใจว่าปัญหาด้านสุขภาพจิตบางกลุ่มโรค เช่น โรคทางอารมณ์ โรควิตกกังวล ที่อาจทำให้อารมณ์แปรปรวนง่าย เศร้าเสียใจ หรือหงุดหงิดได้ง่ายกว่าปกติ อาจจะทำให้ผู้ป่วยควบคุมอารมณ์ได้ยากก็ตาม
แต่พฤติกรรมหรือการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นล้วนเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล ทุกคนมีสิทธิเลือกวิธีตอบสนองอารมณ์ของตัวเองภายใต้ความรับผิดชอบของตัวเอง ดังนั้นปัญหาสุขภาพจิตจึงไม่ควรถูกยกมาเป็นคำอธิบายในการกระทำไม่ดีต่อผู้อื่นหรือกระทำไม่ดีกับสังคม เพราะจะทำให้สังคมมองภาพลักษณ์ผู้ป่วยจิตเวชในแง่ลบ สังคมไทยควรเรียนรู้ที่จะยืนหยัดในการทำสิ่งที่ถูกต้อง ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ที่จะให้อภัย
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีหนุ่มหัวร้อนว่า ทุกคนไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วยสามารถมีความเครียดและเหวี่ยงวีนได้ สิ่งสำคัญคือไม่อยากให้ไปเจาะลึกชีวิตส่วนตัวเขา เพราะจะยิ่งเครียดมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากจะให้ตอบถึงเคสนี้จริงๆ ต้องบอกว่าจากลักษณะอาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่อาการหลักของโรคซึมเศร้า แต่อาจเป็นผลจากภาวะอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่อาการของโรค