ประเด็นน่าสนใจ
- งานวิจัยเผยประชาชนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก เสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมบ้าน เนื่องจากในอีก 30 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น
- ชัชชาติ อดีต รมว.คมนาคม แนะอย่าตระหนก ก่อนเผยวิธีป้องกันเพื่อรับมือ
- โดย 1 ในวิธีรับมือคือการกำหนดผังเมืองใหม่
- เชื่อมั่นว่าปัญหานี้สามารถผ่านไปได้ถ้าเข้าใจและเอาจริง
จากกรณีที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ได้รายงานผลวิจัยว่าในปี 2050 หรืออีก 31 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จากวิกฤตสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป อาจกระทบกับประชากรทั่วโลกที่จะสูญเสียที่อยู่อาศัย เนื่องจากเมืองทั้งเมืองอาจจมอยู่ใต้บาดาล โดยพื้นที่ติดกับทะเลของไทย อาจมีบางส่วนจมน้ำนั้น
ล่าสุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นและแนะนำวิธีป้องกันเพื่อรับมือกับเหตุน้ำท่วมกรุงในครั้งนี้ ว่า
จากการหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ผมคิดว่าเราคงยังไม่ต้องตื่นตระหนกถึงกับย้ายบ้านหนีน้ำท่วม เพราะงานวิจัยดังกล่าวก็ใช้สมมติฐานหลายเรื่องในการสรุปผล แต่เราควรจะต้องตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวว่ามีโอกาสที่น้ำทะเลจะสูงขึ้น และกระทบต่อประเทศไทยในอนาคต
ซึ่งเราเริ่มเห็นแล้วในบางพื้นที่ เช่น บริเวณชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งนอกจากระดับน้ำทะเลแล้ว ยังมีผลเรื่องการทรุดตัวของดิน และการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งร่วมด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาและเตรียมพร้อมรับมือดังกล่าว จึงวิธีป้องกันน้ำท่วม ที่เป็นรูปธรรมที่น่าจะเป็นไปได้ ดังนี้
- กทม. และจังหวัดต่างๆ จัดทำแผนที่ความเสี่ยง (Risk Map) โดยเฉพาะค่าระดับ ความเสี่ยงจากน้ำท่วมของพื้นที่ต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อประชาชนจะได้เข้าใจความเสี่ยงของพื้นที่ต่างๆ ดีขึ้น
โดยควรมีการทำแบบจำลองระดับความละเอียดถูกต้อง +/-10 เซนติเมตร (ซึ่งเข้าใจว่าปัจจุบันทางกรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการอยู่) การปรับปรุงข้อมูลแผนที่มาตราส่วน 1:4000
และจัดทำข้อมูลภูมิประเทศและระดับความสูงด้วยเทคโนโลยีไลดาร์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีความละเอียดมากกว่าการใช้แบบจำลองจากดาวเทียมในผลการศึกษา ทำให้เราประเมินความเสี่ยงได้ถูกต้องมากขึ้น - การกำหนดผังเมือง แนวทางการพัฒนาเมือง การสร้างระบบระบายน้ำ แนวคันกั้นน้ำ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากเรื่องนี้อย่างจริงจัง
- เพื่อป้องกันระดับน้ำทะเลที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เราอาจจะพิจารณาการพัฒนาแนวคันกั้นตามแนวคิดของคันกั้นน้ำด้านตะวันออกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยยกระดับแนวถนนที่วิ่งขนานกับอ่าวไทย
ตั้งแต่แม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน โดยใช้แนวถนนเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และใช้เป็นเส้นทาง Logistics ได้ เช่น สุขุมวิทสายเก่า ถนน 3243 ( วัดแหลม-นาเกลือ) ถนน 3423 (สมุทรสาคร-โคกขาม) ถนนพระราม 2 - ทำเขื่อนกั้นน้ำทะเลและประตูน้ำเพื่อควบคุมน้ำทะเลในจุดที่เส้นทางแนวกั้นน้ำผ่านแม่น้ำและคลองเพื่อทำให้แนวคันกันน้ำมีความต่อเนื่อง
- วางแผนระยะยาวสำหรับการขนส่งทางเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา และการใช้ท่าเรือคลองเตยในอนาคต เพราะการขนส่งทางเรือขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบ ถ้ามีการสร้างเขื่อนหรือประตูน้ำ
- รณรงค์เรื่องการลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง มีการกำหนดเป้าหมายในการลด Carbon Footprint ของประเทศและจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกหลักของประเทศ
(สิ่งที่ไม่ควรทำคือการตั้งคณะกรรมการอีก 5 คณะ เพื่อศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม) ปัญหาทุกอย่าง รับมือได้ ถ้าเราเข้าใจและเอาจริง