ข่าวสดวันนี้ มูลนิธิ สืบนาคะเสถียร สืบ นาคะเสถียร

30 ปี “สืบ นาคะเสถียร” การจากไปที่ไม่สูญเปล่า

วันนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ได้เกิดเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด ณ บ้านพักหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

Home / NEWS / 30 ปี “สืบ นาคะเสถียร” การจากไปที่ไม่สูญเปล่า

วันนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ได้เกิดเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด ณ บ้านพักหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี  ส่งผลให้ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์และหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งต้องจบชีวิตลง จากการที่เขาต้องการแลกชีวิตตัวเอง เพื่อปลุกจิตสำนึกคนในสังคมให้ตื่นขึ้น และรับทราบความเป็นไปของสถานการณ์ป่าไม้ และสัตว์ป่าของเมืองไทย หลังจากขณะนั้นชีวิตสัตว์ป่าและป่าไม้ในประเทศถูกย่ำยีเหมือนกับของเล่น ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นสิ่งมีค่าควรจะคงอยู่กับโลกใบนี้มากกว่าทุกสิ่ง

สืบ นาคะเสถียร

สืบ นาคะเสถียร เดิมมีชื่อว่า สืบยศ เด็กหนุ่มจากจังหวัดปราจีนบุรี เดินทางมุ่งมาเพื่อมาเรียนในคณะวนศาสตร์ เมื่อปี 2511 แม้ว่าในครั้งแรก สืบ ไม่ได้อยากเรียนป่าไม้แต่อย่างใด เมือสอบติด จึงตัดสินใจเข้ามาเรียน ตามที่แม่บอกเนื่องจากไม่อยากให้รอสอบในปีถัดไป จากวันแรกจนสำเร็จปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒน์วิทยา ในปี พ.ค. 2517 และเริ่มทำงานด้านอนุรักษ์ด้วยตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ซึ่งเป็นกองงานเล็กๆ ในกรมป่าไม้ ในขณะนั้น เนื่องจากต้องการงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า ก่อนที่จะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในปี 2529 จากการที่เขาไปทำหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้าง

ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) บริเวณแก่งเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะปัญหาการสร้างเขื่อนจนเกิดน้ำท่วม ช่วยเหลือสัตว์ได้ 1,364 ตัว ส่วนที่เหลือถึงแก่ความตาย สืบจึงเข้าใจว่า งานวิชาการเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยพิทักษ์ป่าซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติได้ จนเป็นที่มาของพยายามเสนอให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกเพื่อเป็นหลักประกันว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าวจะได้รับการพิทักษ์รักษาถาวร ในปี 2531

สืบ นาคะเสถียร, รำลึกสืบ นาคะเสถียร, มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

ปลายปี พ.ศ. 2532 สืบได้รับทุนศึกษาปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ และได้เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งด้วย และปี พ.ศ. 2533 สืบ จึงตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร และได้ดำเนินกิจกรรมหลายประการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และอพยพสัตว์ป่าที่ยังตกค้างอยู่ในแก่งเชี่ยวหลาน

……………..

“ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้..”

……………..

แต่ความพยายามของสืบในการดำเนินการดังกล่าว ไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ให้ความสนใจ แถมชาวบ้านท้องถิ่นก็สนใจปากท้องมากกว่า จึงรับจ้างผู้มีอิทธิพลเข้ารุกรานป่าเสมอมา ทำให้เขาพยายามจัดตั้งการประชุมหลายสิบครั้งในการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่คำขอของเขากลับถูกหมางเมิน ไม่ได้ตอบรับจากผู้เกี่ยวข้อง จนเป็นที่มาส่วนหนึ่งของการปลิดชีพจบชีวิตของตัวเองในวันที่ 1 กันยายน ปีเดียวกัน

แรงบันดาลใจสู่คนรุ่นใหม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร ได้สร้างแรงกระเพื่อม ปลุกกระแสอนุรักษ์ให้เกิดขึ้น จุดไฟให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งนั่นเป็นแรงขับเคลื่อนให้ หนุ่มสาวหลายคนเลือกเรียนในคณะวนศาสตร์ด้วยอุดมการณ์ ซึ่งหาไปถามน้องๆ นิสิตคณะวนศาสตร์หลายๆ คน จะพบว่า จำนวนไม่น้อย บอกว่า มี สืบ นาคะเสถียร เป็นแรงบันดาลใจในการเลือกเรียนคณะนี้

“ในการผลิตบัณฑิตของคณะวนศาสตร์ ไม่ว่ารัฐจะเปลี่ยนระบบการรับสมัครไปกี่ แต่จำนวนคนเรียนในสายป่าไม้ ไม่ได้ลดลงเลย” ดร.ชาคริต ณ ตะกั่วทุ่ง รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมป่าไม้กล่าวกับทีมงาน

วิเชียร ชิณวงษ์ คือรุ่นน้องคณะวนศาตร์ ที่ถึงแม้จะห่างกันถึง 30 รุ่น (สืบ นาคะเสถียร วนศาสตร์รุ่นที่ 35 ส่วนวิเชียรนั้นวนศาสตร์รุ่นที่ 65)  ก็ถือเป็นอีกหนึ่งคนที่สร้างแรงกระเพื่อมใหักับกระแสอนุรักษ์เช่นเดียวกับรุ่นพี่

มูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร และการพลิกฟื้นผืนป่าไทย

การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร  วันนั้นไม่ได้สูญเปล่าไปอย่างไร้ค่า เพราะเสียงปืนดังไปถึงหัวใจของผู้คนจากหลากอาชีพ ที่มีใจรักษ์ธรรมชาติ ได้รวมตัวกันจัดตั้งก่อให้เกิดมูลนิธิ สืบ นาคะเสียร ขึ้นมาสานต่อเจตนารมณ์ของนักอนุรักษ์ผู้เสียสละรายนี้ให้คงอยู่  ส่งผลให้การอนุรักษ์ป่าไม้ และขัดค้านเขื่อนเพื่อช่วยชีวิตสัตว์ป่า และป่าไม่ให้ถูกทำลายก็ยังคงดำเนินอยู่จนถึงในปัจจุบัน

สืบ นาคะเสถียร, รำลึกสืบ นาคะเสถียร, มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

แต่กระนั้นการทำงานรักษาผืนป่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป หากทำให้คนในพื้นที่เข้าใจว่าคนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ สนับสนุนให้พวกเขาเปลี่ยนความคิดหันมาปลูกพืชผสมสร้างรายได้มากกว่าการสนับสนุนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และจากแนวทางดังกล่าวบวกกับเทคโนโลยีที่ส่งข้อมูลความรู้เรื่องอนุรักษ์ถึงประชาชนง่ายขึ้น ทำให้ผืนป่าของไทยกลับมาเริ่มเขียวขจีอีกครั้ง โดยหากเราดูพื้นที่ป่าในประเทศไทยหลังจากการเสียชีวิตของ สืบ มาถึงปี  2560 ก็จะเห็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจากการทวงผืนป่ากลับคืนมาได้ถึง 102,156,351 ไร่ คิดเป็น 31.58 % ของพื้นที่ป่าทั้งหมดของประเทศ

อีกทั้งในปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้   มาตรา 7  ว่าด้วยการห้ามครอบครองไม้ต้องห้าม คือ ไม้สัก, ไม้ยาง, ไม้ชิงชัน, ไม้เก็ดแดง, ไม้อีเม่ง, ไม้พะยูงแกลบ, ไม้กระพี้, ไม้แดงจีน, ไม้ขะยูง, ไม้ซิก, ไม้กระซิก, ไม้กระซิบ, ไม้พะยูง, ไม้หมากพลูตั๊กแตน, ไม้กระพี้เขาควาย, ไม้เก็ดดำ, ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย  ให้เป็นไม้ที่สามารถครอบครองได้

เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคงจากการประกอบอาชีพทำไม้ปลูกป่าเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น และในอนาคตใครที่มีที่ดิน สามารถปลูกไม้มีค่าในที่ดินของตนเองได้ และถ้าไม้โตแล้วอยากจะตัดไปขาย ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่แล้ว หรืออยากจะเอาไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันก็สามารถทำได้เช่นกัน ทำให้ป่าในเมืองไทยมีทิศทางเติบโตและดูสดใสขึ้น ถึงแม้ว่าขบวนการลักลอบตัดไม้ยังมีอยู่บ้างประปรายก็ตาม  

……………..

“… ผมเห็นใจคนที่ไม่มีโอกาสในสังคม ถูกเอารัดเอาเปรียบ ประเทศไทยจะดีขึ้น หากคนที่มีโอกาสยอมสละโอกาสบ้าง เราช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก …”

……………..

การสนับสนุนจากภาครัฐ สวัสดิการ เจ้าหน้าที่

อีกเรื่องหนึ่งนอกจากการอนุรักษ์ป่า และชีวิตของบรรดาสัตว์ ที่คาดว่าจะเป็นชนวนเหตุให้ สืบ นาคะเสถียร ปลิดชีพตัวเองลงเมื่อ 28 ปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ไร้ซึ่งสวัสดิการ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะช่วยในเรื่องการอนุรักษ์และพิทักษ์ป่า

จะเห็นได้จากก่อนการเสียชีวิต สืบ เคยวิ่งเต้นหาแหล่งเงินทุนเพื่อมาเป็นสวัสดิการและประกันชีวิตให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับล่างในห้วยขาแข้ง และเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ บางครั้งสืบต้องกลับไปขอยืมเงินจากทางบ้าน เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูกจ้างที่ตกเบิกไปก่อน เงินเก็บที่มีก็ต้องนำมาใช้ซ่อมรถเพื่อให้มีใช้งานได้ รวมถึงได้เตรียมจัดการทรัพย์สินที่หยิบยืมและทรัพย์สินส่วนตัว และอุทิศเครื่องมือเครื่องใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

“พิทักษ์ไพร แล้วใครพิทักษ์เขา” เป็นหนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้น หากใครที่ทราบถึงเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ลูกจ้างชั่วคราว ที่ทำหน้าที่ปกป้องผืนป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ ซึ่งภาระหน้าที่ สวนทางกับรายได้ที่เกิดขึ้น  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป-ปลากระป๋อง เป็นอาหารหลักที่ขาดไม่ได้สำหรับเจ้าหน้าที่เพื่อใช้ดำรงชีวิตในผืนป่า เพราะราคาไม่แพง เก็บรักษาได้นาน

ยังไม่นับความเสี่ยงที่ยังคงเกิดขึ้นในทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการปะทะกับเหล่ามอดไม้ที่เข้ามาลักลอบตัดไม้ ผู้มีอันจะกินที่เข้ามาล่าสัตว์ หรือแม้แต่ปืนผูกของนักล่าชาวบ้าน ฯลฯ ความเสี่ยงเหล่านี้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดหวัง สูญเสียชีวิต พวกเขาเหล่านี้ ไม่ได้มีสิทธิได้รับเงินเดือนเพิ่ม บำนาญ หรือยศ เพิ่มแต่อย่างใด มีเพียงเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ เงินบริจาคจากหน่วยงานต่างๆ หัวหน้าส่วนต่างๆ เพียงเท่านั้น ทั้งที่งานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้เอง ก็มีความสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว

สืบ นาคะเสถียร, รำลึกสืบ นาคะเสถียร, มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

เวลาผันผ่านการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไม้ในปัจจุบันได้มีพัฒนาและเปลี่ยนรูปแบบรวมถึงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่เพียงพอ แต่ก็ถือว่าดีขึ้น ทั้งมีการจัดซื้อปืนลูกซอง – รถยนต์ รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เอื้อการทำงานและมีบทบาทสำคัญเข้ามาให้การทำงานสะดวกมากขึ้น

โดยเฉพาะการลาดตระเวณเชิงคุณภาพ หรือ Smart Patrol ซึ่งคือระบบการเดินลาดตระเวนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ เพิ่มศักยภาพในการป้องกัน ปราบปราม และการจัดการพื้นที่ โดยการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อวางแผนลาดตระเวณ การเก็บข้อมูล วิเคราะห์ประมวลผลในมาตราฐานเดียวกันทุกที่ ก่อนนำมาวิเคราะห์เพื่อการบริการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงเรื่องสวัสดิการ ที่ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้รับการดูแลเพิ่มมากขึ้น แม้ยังไม่ได้มากตามความเสี่ยงที่มี  ทั้งเรื่องของประกันชีวิต และมีกองทุนช่วยเหลือต่างๆ ในเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง แต่กระนั้นถือว่าอยู่ในสายตาและได้รับความช่วยเหลือมากแต่ก่อน  มีทั้งภาคเอกชน สาธารณชน ร่วมกันสนับสนุนช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากันอย่างท้วมท้น ตั้งแต่เรื่องการสนับสนุนอุปกรณ์การทำงาน ปัจจัยต่างๆ ไปจนถึงการผลักดันเชิงนโนบาย ที่วันนี้นำไปสู่การก่อตั้ง มูลนิธิเพื่อผู้พิทักษ์ป่า โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ตัดไม้ – ล่าสัตว์ เปลี่ยนแปลงแต่ไม่หมดไป

หลังจากเกิดเหตุการณ์วันนั้น ถึงวันนี้ ยังคงมีการลักลอบตัดไม้มีค่าอยู่เช่นเดิม เพียงแต่เปลี่ยนเป้าหมายจากเดิมไปสู่ “พะยูง” ไม้มีค่าในวันนี้ ซึ่งหากใครได้ติดตามข่าวจะพบการลักลอบตัดไม้พะยูงจำนวนมาก ตั้งแต่ขบวนการเล็กๆ ไม่กี่คน ไปจนถึงระดับใหญ่ที่มีกองทัพหมด เข้าไปขนไม้ ออกมากันเป็นขบวนการ

ภาพในวันนั้นที่เราเคยเห็นชาวบ้านตัวเล็กๆ ลักลอบตัดไม้เริ่มจางไป แต่เราจะเห็นภาพของขบวนการที่ใหญ่ขึ้นเข้ามาจำนวนมากขึ้น มีการอำพรางในหลายรูปแบบเช่น การนำรถตู้ – รถเก๋ง ดัดแปลงมาลักลอบขนไม้พะยูง เป็นต้น

ปัญหาการล่าสัตว์ป่า ดูจะเป็นปัญหาที่เราพบได้ตั้งแต่ระดับรากหญ้า จนถึงผู้มีอันจะกินในเมืองหลวง พบเห็นได้มากขึ้น ง่ายขึ้น ในโซเซียลมีเดีย ที่หากเราค้นหากลุ่มต่างๆ ก็จะพบว่า มีการนำสัตว์ป่าที่ล่ามาขายกันเป็นระยะๆ ไม่นับที่มีการโพสต์-โชว์ อาหารป่าที่เชื่อว่าเป็น “ยาโป๊ว” ช่วยบำรุงกำลังต่างๆ เป็นต้น

……………..

“จะไม่มีใครต้องตายในเขตห้วยขาแข้ง ถ้ามีก็ต้องเป็นผม”

……………..

เสียงปืนวันนั้นไม่ใช่แค่ปลิดชีพ สืบ นาคะเสถียร  หากแต่มันส่งเสียงสะท้อนดังก้องถึงคนในสังคมและทุกหน่วยงานมาอีกนับสิบปี ให้เห็นความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และดูแลชีวิตของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ที่สละชีวิตเข้ามาทำหน้าที่ปกป้องพื้นป่า

1 กันยายน 2533 เป็นวันจบชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร แต่ถือเป็นการเริ่มต้น ของสัญลักษณ์ความมุ่งมั่นจริงจังใน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้วันนี้ ยังมีความหวังในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กลับมาสมบูรณ์ และคืนสมดุลกับโลก เพื่อส่งต่อไปยังอนาคต จนต่างเรียกขานว่าวัน ‘สืบ นาคะเสถียร’

……………..
“เสียงปืนที่ดั่งลั่น ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ
ลูกน้อยที่กอดไว้ กระดอนไปเพราะแรงปืน
ฝืนใจเข้ากอดแม่ หวังแก้ให้แม่ฟื้น
แม่จ๋าเพราะเสียงปืน จึงไม่คืนชีวิตมา

โทษใดให้ประหาร ศาลไหนพิพากษา
หากลูกท่านเป็นสัตว์ป่า ใครเข่นฆ่าท่านยอมไหม

ชีวิตใครก็รัก ท่านประจักษ์บ้างหรือไม่ โ
ปรดเถิดจงเห็นใจ สัตว์ป่าไซร้ก็เหมือนกัน”

– สืบ นาคะเสถียร 1 พ.ค. 2518

……………..

ฟังเสียง จนท. ห้วยขาแข้งเล่าถึง “สืบ นาคะเสถียร”


ขอบคุณภาพ-เนื้อหา บางส่วนจาก seub.or.th, “เพื่อนป่าไม้ พิทักษ์ป่าไทย”