แม้ปัจจุบันปัญหาราคาข้าวตกต่ำ และสร้างความทุกข์ใจให้กับพี่น้องชาวนา จนทางรัฐบาลต้องมีนโยบายเร่งด่วนในการเข้าช่วยเหลือ แต่อย่างไรก็ตามชาวนาก็ต้องจำใจขายเพื่อนำเงินไปใช้หนี้สินจากการลงทุนทำนาข้าว ย่อมแน่ชัดว่าชาวนาแต่ละรายมีต้นทุนไม่เท่ากัน บางรายทำนาแต่ละครั้ง ไหนจะค่าเช่าที่ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าสีข้าวจากการจ้างโรงสี เมื่อหักลบแล้วกลับเหลือเงินอันน้อยนิด
วันนี้ MThai News ในช่วง ‘เกษตรสร้างรายได้‘ ขอพาทุกท่านไปพบกับคุณสมเจตน์ กลัดเล็ก หรือคุณเจต เกษตรกรในพื้นที่ หมู่ 3 ต.บ้านใหม่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ชาวนาที่หันมาปลูก ‘ข้าวไรซ์เบอร์รี่‘ และข้าวสายพันธุ์อื่นๆ อีกหลากหลายชนิด และยังทำนาแบบพึ่งพาตนเอง โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
คุณเจต เผยว่าแต่เดิมนั้นที่บ้านทำสวนส้ม ปลูกมะม่วงส่งขาย ในพื้นที่กว่า 70 ไร่ และมีการปลูกข้าวแบบใช้เคมีมาโดยตลอด กระทั่งปี 2538 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ต้นไม้เสียหายเป็นจำนวนมาก จึงหันมาปลูกข้าวอย่างเต็มตัว ช่วงแรกๆยังคงทำนาแบบเคมี จนมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงาน ได้เห็นข้าวที่ปลูกเพื่อสุขภาพ จึงเกิดแนวคิดที่จะปลูกข้าวแบบไม่ใช้สารเคมีบ้าง เนื่องจากคิดว่าการปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี จะส่งผลดีทั้งตัวผู้ปลูก และผู้บริโภค
โดยเริ่มต้นจากเรื่อง ‘ดิน’ ควรมีการปรับสภาพและฟื้นฟูสภาพดินให้สมบูรณ์ ก่อนการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยใช้น้ำหมักชีวภาพราดให้ทั่วพื้นที่เพาะปลูก ก่อนจะนำเมล็ดข้าวไปแช่นำ โดยที่นาข้าวของคุณเจต จะหว่านเมล็ดข้าวต่อไร่ไม่เกิน 10 – 20 กิโลกรัม เพื่อไม่ให้ต้นข้าวมีความหนาแน่นจนเกินไป ซึ่งจะเป็นผลดีต่อต้นข้าวโดยตรง และยังลดการเกิดโรคและแมลงศัตรูพืชได้
ทั้งนี้ที่นาข้าวของคุณเจตปัจจุบันจะปลูกข้าวหลากหลายชนิดด้วยกันตามความต้องการของตลาด แต่ช่วงนี้จะเน้น ‘ข้าวไรซ์เบอร์รี่’ เป็นหลัก ชนิดอื่นๆ อาทิข้าวหอมนิล ข้าวพันธุ์สินเหล็ก ข้าวพันธุ์สังข์หยด ข้าวหอมปทุม และข้าวขาวตาแห้ง (ข้าวแข็ง)
โดยข้าวไรซ์เบอร์รี่จะใช้ระยะเวลาประมาณ 135 วัน จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้จะได้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 500 กิโลกรัม (แบบข้าวเปลือก) ส่วนข้าวหอมนิล จะใช้ระยะเวลาประมาณ 95 – 120 วัน ข้าวสินเหล็ก จะใช้ระยะเวลาประมาณ 100 วัน และข้าวสังข์หยด จะใช้ระยะเวลาประมาณ 100 วัน จะได้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 400 กิโลกรัม ซึ่งจะปลูกไล่ลำดับแต่ละช่วงเดือนกันไปเพื่อให้มีผลผลิตต่อเนื่อง
คุณเจตยังบอกอีกว่าการปลูกข้าวที่แปลงนาตนเองนั้น จะไม่เน้นปลูกทีละมากๆ แต่จะปลูกตามความเหมาะสม โดยจะปลูกเพียงปีละ 2 ครั้ง ซึ่งจะต้องเช็กปริมาณข้าวเปลือกที่อยู่ภายในสต็อก หากตัวไหนขาดหรือมีปริมาณน้อยก็จะเน้นข้าวพันธุ์นั้นๆ ส่วนโรคและแมลงศัตรูหลักของข้าว จะเป็นพวกเพลี้ยไฟ จะแก้ปัญหาด้วยการใช้น้ำหมักชีวภาพจากฟ้าทะลายโจรพ่นให้ทั่ว ก็จะช่วยป้องกันได้ โดยจะไม่ใช้สารเคมีเลย เพื่อให้ได้ข้าวที่ดี นอกจากมีคุณภาพแล้ว ต้องปลอดภัยต่อผู้บริโถคอีกด้วย คุณเจตกล่าว
เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว หลังเกี่ยวข้าวแล้วควรจะตากข้าวไว้ทันทีเพื่อเป็นการไล่ความชื้นของข้าวเปลือก หากเกี่ยวข้าวแล้วไม่ตากจะทำให้ข้าวเปลือกคุณภาพลดลง และยังส่งผลต่อราคาขายในอนาคต และไม่ควรเกี่ยวข้าวในช่วงหน้าฝน โดยจะหยุดทำนาในช่วงเดือน พ.ค. เนื่องจากเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง จะมีปริมาณน้ำเค็มมาก
ทั้งนี้คุณเจตจะเน้นแปรรูปสินค้าด้วยการพึ่งพาตนเองทุกขั้นตอน โดยลงทุนซื้อเครื่องสีข้าว เครื่องคัดแยกข้าวเปลือก รวมทั้งเครื่องที่ใช้ในการทำบรรจุผลิตภัณฑ์ นอกจากเป็นการลดต้นทุนแล้ว จะสามารถเพิ่มมูลค่าของข้าวได้อีกด้วย ส่วนราคาที่ขายนั้น 1 กิโลกรัมจะอยู่ที่ 65 บาท โดยจะสีข้าวตามจำนวนออร์เดอร์ที่เข้ามาเท่านั้น
โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนภายในชุมชน และลูกค้ารอบนอกที่เข้ามาซื้อเพื่อนำไปออกบูธจัดจำหน่ายตามงานต่างๆ ส่วนรายได้ต่อเดือนนั้นประมาณ 25,000 – 30,000 บาท หากเป็นช่วงที่มีออร์เดอร์เข้าเยอะ สามารถทำเงินได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามคุณเจต กล่าวทิ้งท้ายอีกว่าเกษตรกรที่ทำนาควรมีการคิดต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้สินค้าตนเอง และรู้จักเรียนรู้และทดลองวิธีการปลูกอยู่ตลอดเวลา ต้องมีความกระตือรือร้น ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งจะทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ และที่สำคัญควรทำนาแบบพอดีไม่มากจนเกินตัว ตามกำลังการผลิตของตัวเราเอง โดยยึดเศรษฐกิจพอเพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาที่ได้อย่างยั่งยืน
หากท่านได้สนใจอยากเรียนรู้การปลูก ‘ข้าวไรซ์เบอร์รี่’ อย่างละเอียดสามารถสอบถามได้ที่ คุณสมเจตน์ กลัดเล็ก เบอร์โทร 089-881-2892
เรื่อง/ภาพ ธเนตร พุทธิตระกูล
ติดตามสกู๊ปข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ news.mthai.com