ประเด็นน่าสนใจ
- WATCHDOG THAILAND เผยภาพลูกหมาถูกฆ่าก่อนนำมาย่างกิน
- ผู้ก่อเหตุคือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ประจำในพื้นที่ จ.มุกดาหาร
- เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยอมรับก่อเหตุจริง บอกเป็นภาพเก่า เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน
เพจ WATCHDOG THAILAND ได้มีการรายงานเรื่องราวสุดสะเทือนใจขึ้น เมื่อมีผู้แจ้งความร้องทุกข์เข้ามาว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประจำอยู่อำเภอเมืองมุกดาหาร ประพฤติไม่เหมาะสมด้วยการจับลูกหมามาฆ่าแล้วย่างกิน
โดยอ้างว่าเพื่อคลายหนาวในช่วงที่ถูกพายุโมดุลพัดถล่มจนเกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง ก่อนที่เวลาต่อมาผู้ก่อเหตุจะอ้างว่า เป็นภาพเก่าที่ได้ลงมือทำเมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ จ.ชลบุรี
โดยเพจดังกล่าวมีข้อความระบุว่า WDT รับเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบคนโพสต์ “แก้หนาวหลังฝน” พร้อมภาพเปรียบเทียบลูกหมาและซากสัตว์ถูกย่างพร้อมกิน ถ้าไม่ใช่โพสต์หาเรื่องให้ถูกกระทืบ และเป็นเรื่องจริงก็ต้องว่ากันไปตากฏหมายครับ ก็หวังว่าจะเป็นอย่างแรกและก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
WDT สืบทราบติดตามจนพบตัว พบเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประจำอยู่อำเภอเมืองมุกดาหาร อ้าง เอารูปเก่ามาโพสต์เล่นตั้งแต่ประจำการอยู่ชลบุรีแล้ว
WDT จึงขอให้ไปแสดงตัวและทำบันทึกประจำวันไว้ต่อหน้าพนักงานสอบสวน สภ.เมือง มุกดาหาร แล้วตักเตือน อย่าได้สร้างความแตกตื่นในโลกโซเชียลเช่นนี้อีก
ชีวิตและความเป็นความตายของสัตว์…ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาพูดเล่นหรือท้าทายคนรักสัตว์ในโลกโซเชี่ยล !
ทั้งนี้จากเหตุที่เกิดขึ้น ทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ ได้รับทราบเรื่องแล้ว พร้อมยอมรับเกิดขึ้นจริง และสั่งให้มีการตั้งคระกรรมการขึ้นมาสอบสวนพร้อมสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ประพฤติสุ่มเสี่ยงดังเช่นเหตุการณ์ดังกล่าวอีก
สำหรับ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ มีผลบังคับใช้แล้ว 27 ธ.ค. 2557 โดยมีสาระสำคัญคือ เพื่อคุ้มครองสัตว์มิให้ถูกทารุณกรรม และเจ้าของจะต้องจัดสวัสดิภาพให้สัตว์มีความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับสภาวะของสัตว์แต่ละชนิด พร้อมกำหนดบทลงโทษไว้ดังนี้
ผู้ที่กระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
เจ้าของสัตว์ หรือผู้ใดที่ไม่จัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสมกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดตามมาตรา 22 มาตรา 24 หรือฝ่าฝืนมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท
ทั้งนี้ พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ได้ระบุถึงกรณีที่ไม่ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ตามมาตรา 21 ดังนี้
- การฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้ เฉพาะสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร
- การฆ่าสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจําหน่ายเนื้อสัตว์
- การฆ่าสัตว์เพื่อควบคุมโรคระบาดตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
- การฆ่าสัตว์ในกรณีที่สัตวแพทย์เห็นว่าสัตว์ป่วย พิการ หรือบาดเจ็บและไม่สามารถเยียวยา หรือรักษาให้มีชีวิตอยู่รอดได้โดยปราศจากความทุกข์ทรมาน
- การฆ่าสัตว์ตามพิธีกรรมหรือความเชื่อทางศาสนา
- การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์ หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน
- การกระทําใด ๆ ต่อร่างกายสัตว์ซึ่งเข้าลักษณะของการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ โดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์หรือผู้ซึ่งได้รับยกเว้นให้กระทําได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์จากสัตวแพทยสภาตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์หน้า 10 เล่ม 131 ตอนที่ 87 ก ราชกิจจานุเบกษา 26 ธันวาคม 2557
- การตัด หู หาง ขน เขา หรืองาโดยมีเหตุอันสมควรและไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ หรือการดํารงชีวิตของสัตว์
- การจัดให้มีการต่อสู้ของสัตว์ตามประเพณีท้องถิ่น
- การกระทําอื่นใดที่มีกฎหมายกําหนดให้สามารถกระทําได้เป็นการเฉพาะ
- การกระทําอื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ