ประเด็นน่าสนใจ
- รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงงบแก้ปัญหาโควิด-19 เฉพาะด้าน สาธารณสุข เบื้องต้นจำนวนทั้งสิ้น 1.17 แสนล้านบาท
- โดยในช่วงปีงบประมาณ 2563 – 2564 รัฐบาลจัดสรรวงเงินงบประมาณ ไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 87,862 ล้านบาท
- ยังมีเงินกู้ตามพระราชกำหนด ฉบับเพิ่มเติม ที่มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา อีกจำนวน 30,000 ล้านบาท
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า จากที่ได้ติดตามการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 พบว่ายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขให้แก่การป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด19
จึงขอชี้แจงเพื่อให้ประชาชนได้สบายใจว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างสูงสุดและได้จัดสรรวงเงินที่จะใช้ในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด19 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุข เบื้องต้นจำนวนทั้งสิ้น 1.17 แสนล้านบาท และในส่วนของร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 65 ยังจัดงบประมาณด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามภารกิจของหน่วยงาน ที่ประกอบด้วยงบของกระทรวงสาธารณสุข กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน กองทุนภูมิปัญหาการแพทย์แผนไทย วงเงินรวมอีก 2.95 แสนล้านบาท
โดยในช่วงปีงบประมาณ 2563 – 2564 รัฐบาลจัดสรรวงเงินงบประมาณจากทั้งงบกลาง กรณีฉุกเฉิน และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับกระทบจากการระบาดของโควิด19 ไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 87,862 ล้านบาท แบ่งเป็น
- ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภาคสนาม และ อสม. 22,146 ล้านบาท
- การจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ 1,824 ล้านบาท
- ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด 29,304 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายด้านวัคซีน ทั้งการวิจัยพัฒนาในประเทศ รวมไปถึงค่ารักษากรณีอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนด้วย 21,134 ล้านบาท
- การเฝ้าระวัง ป้องกันและค้นหาเชิงรุก 6,483 ล้านบาท
- การจัดตั้งสถานกักตัวของรัฐ (State Quarantine – SQ) และ สถานที่กักกันโดยองค์กรต่าง ๆ (Organizational Quarantine – OQ) 6,452 ล้านบาท
- การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน 519 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีเงินกู้ตามพระราชกำหนด ฉบับเพิ่มเติม ที่มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา อีกจำนวน 30,000 ล้านบาท (จากกรอบวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท) เพื่อเตรียมพร้อมรับความไม่แน่นอนของการระบาดของโรคโควิด19 ซึ่งการใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาโควิด19 จากพ.ร.ก.เงินกู้ จะทำได้เร็วกว่าและทันสถานการณ์มากกว่าการรอใช้จาก พ.ร.บ. งบประมาณปี 2565 ที่กว่าจะเริ่มใช้ในเดือนต.ค. 2564