ประเด็นน่าสนใจ
- มีการแชร์เรื่องราวของปลาคาร์ฟชื่อถุงทอง ที่จู่ ๆ ก็มีอาหารเนื้อเปื่อยหางขาด จนก้างโผล่
- ผู้คนรอบตัวของเจ้าของถุงทองต่างลงความเห็นว่ามันไม่น่ารอด
- เจ้าของถุงทองไม่ลดละความพยายาม มุ่งหน้ารักษาจนถุงทองรอดชีวิต และหายดี
ชาวออนไลน์ แห่แชร์เรื่องราวของเจ้าถุงทอง ปลาคาร์ฟ หางเปื่อยจนก้างโผล่ ที่เจ้าของฮึดสู้รักษาจนหาย แม้คนรอบข้างชี้ว่าไม่น่ามีชีวิตรอด สุดท้ายมีปาฏิหาริย์ เพราะเจ้าของตั้งใจรักษามันจนหายหลังผ่านไป 6 เดือน
เฟซบุ๊ก Kanya Tantiwiwatkul มีการโพสต์เรื่องราวของเจ้า ‘ถุงทอง’ ปลาคาร์ฟ ที่หลาย ๆ คนเข้าใจว่าเป็นปลาทอง ที่จู่ ๆ กลับมีอาการเนื้อเปื่อยที่บริเวณหางจนก้างโผล่ ซึ่งผู้คนรอบข้างตัวของเจ้าของของถุงทอง ต่างฟันธงว่ามันไม่น่ารอดชีวิต แต่สุดท้ายเมื่อผ่านไป 6 เดือน มันกลับมาหายเป็นปกติ เพราะเจ้าของตั้งใจรักษามันทุกวิถีทาง แม้ร่างกายของมันจะไม่สมบูรณ์ดังเดิม
ทั้งนี้เจ้าของโพสต์ซึ่งเป็นเจ้าของของถุงทองเล่าว่า ในตอนแรกเจ้าถุงทองเนื้อหายไปนิดหน่อย เลยแยกเจ้าถุงทองออกมาอยู่ในตู้เล็กเพียงลำพัง แต่เมื่อมันว่ายน้ำและสะบัดหาง เนื้อของมันจึงค่อย ๆ หลุดออกมาไปเรื่อย ๆ เจ้าของจึงใช้วิธีการเปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ ใส่ยาในน้ำนิดหน่อย และนำถุงทองมาป้ายยาที่บริเวณหาง ซึ่งทำเป็นประจำทุก ๆ วัน เนื้อที่เปื่อยและก้างจึงค่อย ๆ หลุดออกไป และมีการสร้างเนื้อใหม้ขึ้นมา และค่อย ๆ หายดีในที่สุด
อย่างไรตาม ผู้คนบนสื่อสังคมออนไลน์ ได้แชร์เรื่องราวดังกล่าวนับหมื่นครั้ง และต่างเข้ามาชื่นชมในความพยายามของเจ้าของปลาทอง ว่าเป็นคนเก่งและมีความใจสู้อย่างมากในการรักษาปลาทองของตนเองจากสภาพใกล้ตายมาหายเป็นปกติในที่สุด
โรคของถุงทองเข้าข่ายเป็นโรค ‘ครีบและหางเปื่อย’
โดยโรคของถุงทองจะมีอาการ เซื่องซึมไม่ค่อยกินอาหารและมักจะว่ายน้ำสั่นกระตุกเป็นพัก ๆ ครีบและหางจะขาดแหว่งคล้ายถูกกัด บริเวณปลายครีบและหางจะมีสีขาวขุ่นหรือแดง และค่อย ๆลุกลามไปเรื่อย ๆ จนครีบและหางของปลาหดหายไป ซึ่งจะทำให้ปลาตายในที่สุด โรคนี้เกิดจากปลาได้รับเชื้อโปรโตซัว และมีการติดเชื้อแบคทีเรียรวมด้วย
นอกจากนี้การรักษาโรค ‘ครีบและหางเปื่อย’ โดยทั่วไปจะต้องแช่ปลาที่กำลังป่วยด้วยฟอร์มาลิน 25 – 45 ซีซี/ น้ำ 1,000 ลิตรนาน 2 วัน และใช้ยาปฏิชีวนะจำพวกไนโตรฟูราโซน ในอัตราส่วน 1-2 กรัม ต่อน้ำ 1,000ลิตรแช่ปลานาน 2-3 วัน