สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับองค์กรภาคี 40 องค์กร และภาคีเครือข่ายพื้นที่ทั่วประเทศ จัดงานมหกรรม “ชุมชนสุขภาวะ” ครั้งที่ 2/2562 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารรัฐประศาสนภักดี
ระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน 2562 นี้ เพื่อนำเสนอพื้นที่ชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะ พร้อมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ก่อนนำไปต่อยอดขยายผลการดำเนินงานเพื่อสังคมสุขภาวะ
โดย นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์การจัดงานมหกรรม”ชุมชนสุขภาวะ” ครั้งนี้ เพื่อแสดงผลการดำเนินงาน ชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
ของหน่วยงานองค์กร และภาคีเครือข่ายในระดับจังหวัด เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินงานของเครือข่ายพลเมืองอาสาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
ที่ผ่านมา งานพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนหรือชุมชนเข้มแข็ง ได้มีการพัฒนาอย่างหลากหลาย ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ให้การสนับสนุน เช่น การจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบล ตำบลสุขภาวะ แผนแม่บทชุมชน แผนพัฒนาชุมชน
การบูรณาการแผนชุมชนสู่แผนพัฒนาท้องถิ่น การส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองผ่านตำบลเรียนรู้ประชาธิปไตย การขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนตำบล การพัฒนาที่อยู่อาศัย
ผู้มีรายได้น้อย โครงการบ้านมั่นคงทั้งในเมืองและชนบท การส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติในชุมชน และยังมีด้านอื่นๆ อีก เช่น ห้องเรียนชุมชน หลักสูตรท้องถิ่น งานยุติธรรมชุมชน อาสาสมัครชุมชนในด้านต่างๆ
ด้าน นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดงานมหกรรมฯ กล่าวว่า งานนี้เน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนจากการดำเนินงานผ่านศูนย์ประสานงานภาคีพัฒนาจังหวัด (ศปจ.) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ระบบสุขภาวะชุมชน เป็นรากฐานสำหรับรองรับการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืนในทุกด้าน ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เป็นการประสานความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคมในส่วนกลาง และองค์กรภาคีจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง เพื่อสังคมสุขภาวะ และพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยสอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ว่าด้วยการเสริมสร้างพลังทางสังคมเพื่อชุมชนเข้มแข็ง
สำหรับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ที่สอดคล้องกับธรรมนูญสุขภาพ ว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ
โดยมีเป้าหมาย เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ “สังคมสุขภาวะ” จึงใช้หลักการของ “การสานพลัง” เพื่อเชื่อมโยง สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้ใช้ เครื่องมือและกลไกต่าง ๆ ภายใต้ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยมุ่งเน้นการสร้างสุขภาพ แทนการซ่อมสุขภาพ (สร้างนำซ่อม) อันเป็นทิศทางที่สำคัญของการสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืนต่อไป