ข่าวสดวันนี้ ถวายสัตย์ปฏิญาณ วิษณุ เครืองาม

วิษณุ ยัน การถวายสัตย์ฯ เป็นเรื่องระหว่าง ครม.กับ ในหลวง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงแทน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า จะขอชี้แจงตามความรู้เท่าที่มี ซึ่งอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 เพิ่งจะมีการตั้งข้อบังคับใหม่ขึ้นมา ที่ผ่านมาการตั้งกระทู้ถามไม่ได้ระบุว่า จะต้องถามคนต่อคน หรือถามแล้วบุคคลนั้นต้องชี้แจง…

Home / NEWS / วิษณุ ยัน การถวายสัตย์ฯ เป็นเรื่องระหว่าง ครม.กับ ในหลวง

ประเด็นน่าสนใจ

  • คำถวายสัตย์เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 161 ในรัฐธรรมนูญ
  • ชี้ ม.152 เป็นการอภิปรายหารือ มากกว่าการต่อสู้ทางการเมือง
  • สิ่งสำคัญของการถวายสัตย์ คือ พระมหากษัตริย์

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงแทน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า จะขอชี้แจงตามความรู้เท่าที่มี ซึ่งอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 เพิ่งจะมีการตั้งข้อบังคับใหม่ขึ้นมา

ที่ผ่านมาการตั้งกระทู้ถามไม่ได้ระบุว่า จะต้องถามคนต่อคน หรือถามแล้วบุคคลนั้นต้องชี้แจง จึงมีการตั้งการอภิปรายตามมาตรา 152 ขึ้น มีใจความสำคัญสามารถเสนอแนะหรือสอบถามได้ รวมถึงเป็นการสอบถามหารือ มากกว่าการจะมาต่อสู้ทางการเมือง ทำให้การอภิปรายตามมาตรา 152 เป็นไปได้ด้วยดีตั้งแต่เริ่ม

ในส่วนการอภิปรายเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้หลายคนไม่ทราบว่าใครทำอะไรที่ไหน แต่บางท่านอาจจะหลงลืม ย้อนไป 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ระบุว่า

สิ่งสำคัญของการถวายสัตย์ฯ คือ พระมหากษัตริย์

ก่อนเข้าปฎิบัติหน้าที่ก็ต้องถวายสัตย์ฯ ต่อพระมหากษัตริย์ เหตุการณ์วันนั้น คณะรัฐมนตรีทั้ง 36 คน เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรี หยิบกระดาษแข็งออกมาจากกระเป๋า เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีคนก่อนประพฤติปฏิบัติกันมา

ช่วงที่นายกรัฐมนตรีกล่าวนำในแต่ละประโยคคณะรัฐมนตรีก็กล่าวตาม แต่ไม่ขอระบุรายละเอียดว่าประโยคดังกล่าวมีว่าอย่างไร แต่จะขอย้ำตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งออกมาว่าเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีกระทำกับพระมหากษัตริย์ หรือ (Act of Goverment) และ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง หรือ political issue

ซึ่งในหนังสือ ”หลังม่านการเมือง” ของตัวเองระบุไว้ชัดเจนเป็นไปตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งระบุอีกว่าผู้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ เป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยพึงพอใจ

นอกจากนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า การถวายสัตย์ฯ สามารถเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ ในอดีตเคยทำในสถานที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งสำคัญต้องมีผู้รับการถวายสัตย์ฯ นั่นคือพระมหากษัตริย์ ไม่สามารถถวายสัตย์ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ได้ และข้อความในการถวายสัตย์ฯ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เป็นเรื่องระหว่างผู้ถวายสัตย์ และผู้รับถวายสัตย์ฯ

นายวิษณุ ยังเผยต่อเรื่องที่นายกรัฐมนตรีพกกระดาษเข้าไปอ่านตอนถวายสัตย์ฯ ว่า เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีทุกคนได้ทำมา มีเพียงแค่ อดีตนายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย คนเดียวที่ไม่ใช้โพย

การถวายสัตย์ฯ คือคำยืนยันของการไว้วางใจ ต่อตัวผู้กล่าวคำปฏิญาณ

โดยส่วนตัว ตนไม่ทราบว่าคำกล่าวที่นายกฯ กล่าวนั้นจะมีเบื้องหน้า เบื้องหลังอะไร แค่นายกฯ อ่านไปตามนั้น ส่วนสำคัญที่ตนอยากจะกล่าวถึงการถวายสัตย์ปฏิญาณ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีและพระมหากษัตริย์ และเพื่อเป็นการยืนยันในการไว้วางใจ ความสัมพันธ์ต่อตัวผู้กล่าวคำปฏิญาณ รวมถึงขอให้ทำหน้าที่ตามที่ปฏิญาณตนไว้

สำหรับเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นได้ขอยืนยันว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแบบรับมีการเผยแพร่ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและหลังจากการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ทรงมีพระราชดำรัส กลับมาระบุเนื้อหาสาระสำคัญไว้ชัดเจน

ขอให้คณะรัฐมนตรีประพฤติปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามคำถวายสัตย์ฯ ที่ให้ไว้ หลังจากนั้นรัฐบาลก็ปฎิบัติหน้าที่ตามปกติเหมือนกับรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา อย่างสมบูรณ์ รวมถึงการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และทุกเรื่องไม่มีเรื่องใดโมฆะ ตามที่พรรคร่วมฝ่ายค้านกังวลแต่อย่างใด