ติววิชาความตาย! รู้จัก สิทธิการตายดีตาม มาตรา 12

         เคยคิดไหมว่า วาระสุดท้ายของชีวิตเราจะเป็นอย่างไร…? เชื่อว่าหลายคนต้องการที่จะจากไปอย่างสงบแน่นอน โดยส่วนตัวแล้ว ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบเห็นภาพการยื้อชีวิต อย่างการกระตุ้นหัวใจ ใส่เครื่องช่วยหายใจสายระโยงระยาง  แต่ก็อดนึกไม่ได้ว่าเมื่อวันนั้นมาถึง ตัวเองจะทำอย่างไร           นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมเริ่มหาข้อมูลเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการตัดสินใจ จนมาสะดุดกับ “สิทธิการตายดี” ตาม มาตรา…

Home / NEWS / ติววิชาความตาย! รู้จัก สิทธิการตายดีตาม มาตรา 12

ประเด็นน่าสนใจ

  • สิทธิการตายดีตาม มาตรา 12 หนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ต้องการจากไปอย่าสงบ การตายตามธรรมชาติอย่างมีความสุข เรียกได้ว่า เป็นการตายโดยสงบ หรือตายดี การตายดีแพทย์พยาบาลจะไม่ทอดทิ้ง และยังได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง

         เคยคิดไหมว่า วาระสุดท้ายของชีวิตเราจะเป็นอย่างไร…? เชื่อว่าหลายคนต้องการที่จะจากไปอย่างสงบแน่นอน โดยส่วนตัวแล้ว ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบเห็นภาพการยื้อชีวิต อย่างการกระตุ้นหัวใจ ใส่เครื่องช่วยหายใจสายระโยงระยาง  แต่ก็อดนึกไม่ได้ว่าเมื่อวันนั้นมาถึง ตัวเองจะทำอย่างไร

          นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมเริ่มหาข้อมูลเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการตัดสินใจ จนมาสะดุดกับ “สิทธิการตายดี” ตาม มาตรา 12

ว่าด้วยเรื่อง สิทธิการตายดีตาม มาตรา 12 ?

                ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้ระบุไว้ในมาตรา 12 หมวด 1 สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ ว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนา

          นั่นหมายถึง เราสามารถเลือกที่จะทำหนังสือปฏิเสธการรับบริการสาธารณสุขใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะคอ การปั้มหัวใจ การใช้เครื่องมือทางการแพทย์ หรือการทำอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดความเจ็บป่วยทรมาน ซึ่งเรามีสิทธิเลือกทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ดังกล่าวได้ เพื่อให้ชีวิตตายตามธรรมชาติอย่างมีความสุข เรียกได้ว่า เป็นการตายโดยสงบ หรือตายดี นั่นเอง

ใครทำหนังสือตายดีได้บ้าง…?

        ผมเริ่มค้นหาต่อว่า ตัวเองมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ดังกล่าวได้หรือไม่ ก็พบว่า บุคคลทั่วไป หรือ ผู้ป่วยที่มีสติสัมปชัญญะดี สามารถทำได้โดยการเขียนหนังสือแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าให้คนอื่นทราบว่า เราไม่ประสงค์จะรับบริการทางการแพทย์ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต

          ในกรณีผู้ป่วยเด็กหรือเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือญาติที่ดูแลเด็ก ตัดสินใจแทนในการดูแลรักษาเหมือนกรณีทั่วไป และถามความต้องการของเด็กหรือเยาวชนเท่าที่จะทำได้

          ซึ่งการแสดงเจตนาสามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ

1. พิมพ์ หรือ เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยลายมือของเจ้าของ
2. แสดงเจตนาด้วยวาจาต่อแพทย์ พยาบาลที่ให้การรักษา ญาติหรือผู้ใกล้ชิด

          ในกรณีที่ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่รู้หนังสือ หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถเขียนหนังสือได้เอง สามารถให้ผู้อื่นช่วยเขียนแทน หรือจะพิมพ์ข้อความก็ได้ และควรมีชื่อผู้เขียน / ผู้พิมพ์หนังสือแสดงเจตนา / พยาน เซ็นกำกับไว้ด้วย

*…ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาอาจใช้ตัวอย่างที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดทำขึ้น หรือจะเขียน หรือพิมพ์ด้วยตัวเองใหม่ทั้งฉบับก็ได้ ดูตัวอย่างได้ที่ www.thailivingwill.in.th …*

ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาจะถูกทอดทิ้ง
หรือปล่อยให้ตายอย่างทุกข์ทรมานหรือไม่…?

          มาถึงตรงนี้ ผมก็สงสัยอีกว่า เมื่อเราทำหนังสือแสดงเจตนาฯ แล้ว จะถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแลหรือไม่ ก็พบว่า เรายังได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง บรรเทาความทุกข์ทรมานหรือเจ็บปวด รวมถึงการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยและญาติ โดยแพทย์พยาบาลจะไม่ทอดทิ้งแต่อย่างใด สบายใจได้เลยครับ

          และหาก ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา ประสบอุบัติเหตุ แพทย์พยาบาลจะช่วยชีวิตอย่างเต็มที่ เพราะอุบัติเหตุเป็นเรื่องฉุกเฉินเร่งด่วน ต่างจากวาระสุดท้ายของชีวิตซึ่งเป็นไปตามภาวะของโรคซึ่งลุกลาม

การทำหนังสือแสดงเจตนาฯ
เหมือนหรือต่างกับการฆ่าตัวตาย?

          ต่างกันชัดเจน การขอตายอย่างสงบเป็นเจตนาที่จะไม่ยืดและไม่เร่งการตาย แต่แพทย์และพยาบาลช่วยดูแลไม่ให้ทุกข์ทรมาน เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบในวาระสุดท้ายของชีวิต

          แต่การฆ่าตัวตาย หรือช่วยเหลือให้ผู้อื่นฆ่าตัวตาย หรือที่เรียกกันว่า ‘การุณยฆาต’ นั้น เป็นการเร่งให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายก่อนถึงวาระสุดท้ายตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อศีลธรรมและจริยธรรมของแพทย์

          มาถึงคำถามที่หลายคนน่าจะอยากรู้เหมือนผม เมื่อทำหนังสือแสดงเจตนาไปแล้ว หากวันหนึ่งเราจะแก้ไข หรือ ยกเลิก ได้ไหม? เราสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลง ระงับใช้ชั่วคราว หรือยกเลิกหนังสือแสดงเจตนาได้ตลอดเวลา ตามที่ผู้ทำหนังสือต้องการครับ แต่ควรแจ้งให้แพทย์ ญาติผู้ป่วยที่เคยได้รับหนังสือแสดงเจตนาไปก่อนหน้านี้ทราบโดยเร็ว

สุดท้ายแล้ว ผมเชื่อว่า แม้คนเราไม่มีสิทธิเลือกเกิด แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็มีสิทธิ “เลือกตาย” ได้ และนี่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของทุกคน เหมือนอย่างที่ตอนนี้ผมเองก็มี “คำตอบ” อยู่ในใจแล้วครับ

#สิทธิการตายดี #ตายดี #สุขปลายทาง #มาตรา12 #พรบสุขภาพแห่งชาติ