ประเด็นน่าสนใจ
- ความขัดแย้งที่ถูกเรียกว่า “ระบอบทักษิณ”
เมื่อลำดับเหตุการณ์ก่อนการเกิดรัฐประหาร เริ่มช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ 1 (กลางปี 2547 ) โดยมีแกนนำที่เป็นที่รู้จักหลายคน เช่น น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ, นายเอกยุทธ อัญชันบุตร, นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นต้น รวมกลุ่มกันในชื่อว่า “กลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์” ออกมาวิพากวิจารณ์ผลงานและข้อทุจริตต่างๆ ในรัฐบาล ทักษิณ 1 ผ่านทางช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ เว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์
ประมาณกลางปี 2548 ความไม่พอใจดังกล่าวขยายวงกว้างออกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจุดสำคัญอยู่ที่รายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ออกมาเคลื่อนไหววิพากวิจารณ์รัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น รายการนี้ แลดูจะชื่นชมรัฐบาลทักษิณ 1 อยู่ไม่น้อย
จนกระทั่งราวต้นปี 2549 การขายหุ้นชินคอร์ปของตระกูลชินวัตร-ดามาพงษ์ แลดูจะเป็นจุดแตกหักหลักๆ ในครั้งนั้น ทำให้นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพลตรี จำลอง ศรีเมือง ได้ประกาศจัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เพื่อออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาล “ทักษิณ 2”
มี ชุมนุมประท้วงขับไล่ นายทักษิณ เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน อีกฝากฝั่งหนึ่ง ก็มีกลุ่มที่ออกมาสนับสนุนและให้กำลังใจ พ.ต.ท. ทักษิณ โดยมีกลุ่มหลักๆ เช่น กลุ่มคาราวานคนจน กลุ่มคนขับแท็กซี่ กลุ่มสามล้อเครื่อง เป็นต้น
- การเลือกตั้งได้ แต่การเมืองยังครุกรุ่นมากขึ้น
หลังจากสถานการณ์เกิดความอึมครึมมากขึ้น จึงมีการประกาศ “ยุบสภา” ในวันที่ 24 ก.พ. 2549 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยทุกฝ่ายคาดหวังว่า สถานการณ์น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ผลการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 กลับไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
เมื่อ 3 พรรคหลักประกอบไปด้วย ประชาธิปัตย์, ชายไทย และพรรคมหาชน ประกาศไม่ส่งผู้สมัครเข้าร่วม ทำให้เกิดปัญหาในการเลือกตั้งมากมาย เช่น การฉีกบัตรเลือกตั้ง เพื่อแสดงความไม่พอใจ การใช้เลือดทำเครื่องหมายแทนปากกา ฯลฯ
และยอดจำนวน โหวด “โน” หรือการไม่ออกเสียงเลือกพรรคใดเลย ราว 31% ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งนั่นทำให้หลายๆ เขต มียอดผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน มากกว่า คะแนนเสียงของผู้ชนะ ในหลายๆ เขต
- เพิกถอนการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 ก่อนเตรียมเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่ทัน
ในปัญหาของการเลือกตั้งครั้งนั้น ต่างเกิดข้อพิพาท ข้อสงสัย ข้อร้องเรียนต่างๆ มากมาย จนนำมาซึ่งการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยในประเด็นต่างๆ ก่อนที่จะมีคำพิพากษา “ให้การเลือกตั้ง เป็นโฆฆะ” และจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในวันที่ 15 ต.ค. 2549
หลังจากปัญหาการเลือกตั้งที่ยังคงไม่ได้ช่วยคลื่คลายปัญหาการเมืองของไทย ในช่วงนั้น ทำให้กระแสข่าว “รัฐประหาร”, “ปฏิวัติ” โชยมาโดยตลอด ทำให้ พลเอก สนธิ บุญรัตกลิน ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวปฏิวัติ รัฐประหาร ครั้งแรกในช่วงเดือน พ.ค. 2549
ซึ่งในปีนั้น ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2549 เป็นต้นมา ก็มีข่าวลือ กระแสข่าวต่างๆ ที่พูดถึงการปฏิวัติ-รัฐประหารอย่างต่อเนื่อง แทบจะวันเว้นวัน ในเดือน ส.ค. 2549 มีการเคลื่อนย้ายรถถังจำนวนหนึ่งเข้ามาสู่ส่วนกลาง ซึ่งยิ่งทำให้กระแสข่าวดังกล่าวนั้น แรงขึ้น ก่อนที่จะมีการชี้แจงจากกองทัพว่า เป็นการเคลื่อนย้ายตามกำหนดการ หรือข่าวการที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ออกคำสั่งกองทัพบกที่ 423/2549 ในวันที่ 19 ก.ค. 2549 สั่งโยกย้ายนายทหารระดับคุมกำลังจำนวน 129 นาย ซึ่งหลายคนต่างกล่าวถึงคำสั่งนี้ว่า “ถอดเขี้ยวเล็บ ตท.10” กันเลยทีเดียว
- ถือเคล็ดเลขเก้า? รัฐประหาร วันที่ 19 เดือน 9 ปี 49
ในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ประกาศชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 20 กันยายน ซึ่งนั่นก็ทำให้อีกฝากฝั่งหนึ่งที่สนับสนุนรบ.ทักษิณ 2 ออกประกาศระดมประชาชนเพื่อเข้าร่วมชุมนุมด้วยเช่นกัน
ซึ่งสถานการณ์ดูสุกงอมมาก เพราะทั่งสองฝ่ายต่างนัดรวมตัวชุมนุมใหญ่แสดงพลังกันทั้ง 2 ฝ่าย ในที่สุด วันที่ 19 กันยายน 2549 บรรดาผู้นำเหล่าทัพได้เข้ายึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จ โดยหากย้อนเวลาไปจะพบว่า
-
- เช้าของวันที่ 19 ก.ย. 49 – สถานการณ์ยังคงปรกติเหมือนเช่นทุกวัน แต่กระแสเรื่องของการทำรัฐประหารแรงมากขึ้นกว่าวันก่อน
- ที่เวที่พันธมิตร นายสุริยไส กติศิลา ขึ้นแถลงการณ์รายละเอียดการนัดชุมนุมใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 20 ก.ย. 2549
- 8.00 น. มีการเรียกประชุมฝ่ายความมั่นคง โดยพล.ท.ปรีชา วรรณรัตน์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์แจ้ง พล.อ.สนธิ แต่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วมประชุมดังกล่าว เหตุผลคือ การเรียกประชุมนั้น “กระชั้นชิดเกินไป”
- ตอนสาย เริ่มมีกระแสข่าวว่า เย็นนี้ จะมีทหารบางส่วนจากลพบุรีเข้ากรุงเทพ และเสียงโทรศัพท์ในฝากฝั่งของ เตรียมทหาร รุ่น 10 เริ่มกรี๊งกร้างหากัน หลังจากการประชุมความมั่นคงในช่วงเช้า “ล่ม”
- ราว 11โมง นายประชา ประสพดี เข้าแจ้งความร้องทุกข์ ให้ตร.ดำเนินคดีกับนาย สนธิ ลิ้มทองกุล ข้อหากบฏ
- พ.ต.ท.ทักษิณ นายกฯ ในขณะนั้น กำลังร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 16 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้กล่าวสุนทรพจน์มีใจความว่า ประเทศไทยยังคงมีประชาธิปไตยที่แข็งแรงอยู่
- พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในขณะนั้น ยืนยันกองทัพมีความพร้อมรับมือ “ม๊อบชนม๊อบ” พร้อมยืนยันแผน “ปฐพี149” 2 ขั้นตอน คือ 1.เตรียมพร้อมในที่ตั้ง 2. นำกำลังพลออกนอกหน่วยปฏิบัติภารกิจ
- ตกบ่าย สถานการณ์ข่าวลือยิ่งแรงขึ้น เริ่มมีรายงานการเคลื่อนย้ายกำลังพลจากหลายๆ จุดต่างๆ จำนวนมาก พร้อมทั้งข่าวลือการหนีออกนอกประเทศของใครหลายๆคน
- กองทัพแจ้งว่า เป็นการเคลื่อนย้ายเพื่อสับเปลี่ยนกำลังในภารกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้
- 18.00 กระแสข่าวลือรุนแรงขึ้น หลังจากข่าวของการเคลื่อนกำลังทหารจำนวนมาก และกระแสข่าวชัดเจนขึ้น ว่าจะเป็นการผลงานของขั้วตรงข้าม “ทักษิณ ชินวัตร”
- 18.30 พ.ต.ท.ทักษิณ แจ้งเลื่อนการกลับไทยเร็วขึ้น จากกำหนดเดิมวัันที่ 22 ก.ย. เป็น 21 ก.ย. เวลา 05.00 น.
- 20.00 น. มีรายงานการเคลื่อนไหวของฝากฝั่งตร. ที่มีการเตรียมกำลังพลในบางจุดสำคัญ
- 21.00 น. มีรายงานแจ้งว่า มีรถ OB ของทาง ททบ.5 วิ่งบนถนน โดยไม่ทราบพิกัดเป้าหมายปลายทางว่า ไปยังที่ใด
- 21.30 สัญญาณมา!!! เมื่อ ททบ.5 ล้มผังรายการปรกติ เปิดเพลงต่างๆ ที่ผิดไปจากปรกติ
- 22.00 มีรายงานเข้ามาถึงความเคลื่อนไหวที่ถนนราชดำเนิน ว่า มีขบวนรถถังออกมาวิ่งบนถนน ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน โทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. ได้ตัดเข้ารายการสดผ่านทางโทรศัพท์ใจความว่า นายกฯ สั่งปลด พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. แต่ยังไม่ทันกล่าวจบ สัญญาณก็ตัดภาพไป พร้อมทหารเริ่มเต็มถนนต่างๆ
- 22.30 น. สถานีโทรทัศน์เริ่มค่อยตัดภาพเข้าสู่รายการพิเศษ ซึ่ง ณ เวลานั้นเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า มีการทำรัฐประหาร และทหารควบคุมสื่อไว้เรียบร้อยแล้ว
- 23.00 หลายแหล่งข่าวยืนยันตรงกันว่า มีการทำรัฐประหาร ยึดสถานีโทรทัศน์ วิทยุ สถานีไทยคม อาคารชินวัตร และบ้านจันทร์ส่องหล้า
- 23.15 น. พล.ต.ประภาส ศกุนตนาค อดีตโฆษก ททบ.5 อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. พร้อมประโยคที่หลายคนจำกันได้ไม่ลืมคือ “โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง”
- และวันนี้ทุกอย่างถือว่าจบแล้ว
หลังจาก 5 ทุ่ม ของคืนวันที่ 19 ก.ย. 2549 ก็มีแถลงการต่างๆ ของ คปค. ออกมาเป็นระยะๆ ซึ่งในเช้าวันถัดมา หลังจากผ่านการรัฐประหารมาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ได้เกิดปฏิกิริยาจากหลายฝ่ายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สำหรับประชาชนที่สนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้ ได้ออกมาให้กำลังใจทหารตามจุดประจำการต่างๆ ทั้งร่วมถ่ายภาพ และให้ดอกไม้ นอกจากนี้ สวนดุสิตโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,019 คน พบว่า 83.98% เห็นด้วยกับรัฐประหาร เนื่องจากเห็นว่าการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนประชาชนที่ไม่เห็นด้วย มีความเห็นว่าภาพลักษณ์ของประเทศอาจตกต่ำลง
ในส่วนของผู้ที่ไม่สนับสนุนการรัฐประหารในครั้งนี้ ก็มีการออกมาแสดงสัญลักษณ์รูปแบบต่างๆ โดยวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 ร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร และทวี ไกรคุปต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งกางป้ายขนาดใหญ่ระบุว่า “กระผม นายทวี ไกรคุปต์ ขออดข้าวประท้วงผู้ที่ล้มล้างประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองถอยหลังและแตกแยก” ก่อนจะมีทหารนำตัวออกไป
ส่วนฝากฝั่งของเตรียมทหารรุ่น 10 ที่มีข่าวลือหลายๆข่าว ในช่วงนั้น ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อ ถึงการ รัฐประหาร ที่ผ่านมา ไม่มากนัก ก่อนปิดท้ายด้วยว่า “… และวันนี้ทุกอย่างถือว่าจบแล้ว …”
13 ปีที่ผ่านมา ของรัฐประหารครั้งที่ 12
หลายคน ยังพอจำเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ ซึ่งถือว่าเป็นการทำรัฐประหารครั้งที่ 12 โดยห่างจากครั้งก่อนหน้าถึง 15 ปี อาจจะเรียกได้ว่า เป็นการเว้นว่างของการทำรัฐประหารนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยก็ว่าได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่การทำรัฐประหารครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในไทย เพราะอีก 8 ปีต่อมา คนไทยก็ได้ยินคำคุ้นหู “โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง” ที่ประกาศผ่านหน้าจอทีวีอีกจนมาถึงปัจจุบัน