ประเด็นน่าสนใจ
- บก.ปคบ. และ อย. ร่วมแถลงการจับกุม ยาไม่ขึ้นทะเบียน-ผลิตภัณฑ์เสริมความงามผิดกฎหมาย
- มีการระบุว่า สินค้าที่ถูกบุกจับ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของผู้บริโภคโดยตรง
พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ ผู้บังคับการ บก.ปคบ. พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สาถวัลย์แพศย์ ผกก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วยนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ตำรวจกก.4 บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่ อย. ร่วมกันแถลงผลการนำกำลังเข้าตรวจค้นเป้าหมาย บ้านเลขที่ 141/516 ชั้น 27 คอนโดเบลล่า เอเวนิว ถนนพระราม 9 แขวงและเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดโบท็อกซ์-ฟิลเลอร์ ยาไม่ขึ้นทะเบียน ผลิตภัณฑ์เสริมความงามจำนวนมาก และสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าหลายยี่ห้อกว่า 200 รายการ มูลค่าของกลางกว่า 10 ล้านบาท
ด้านพล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต กล่าวว่า การปราบปรามผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา นับเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะในการบูรณาการ และสนธิกำลังร่วมกันเข้าตรวจค้นในครั้งนี้ ได้ตรวจยึดสินค้าที่เป็นยา และ ผลิตภัณฑ์เสริมความงามจำนวนมาก
ซึ่งสินค้าดังกล่าวมีผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของผู้บริโภคโดยตรง ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะอาจกระทบต่อการตัดสิทธิพิเศษทางการค้าทำให้สินค้าของไทยบางรายการ ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เนื่องจากประเทศไทยได้รับการจัดอันดับ ตามมาตรา 301 พิเศษ ของประเทศสหรัฐอเมริกาให้อยู่ในระดับ Watch List (WL) ซึ่งมุ่งหวังจะให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากทุกบัญชีที่ถูกจับตามองของต่างประเทศ และพร้อมที่จะประสานให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ หรือภาคเอกชน โดยจะร่วมมือกันปราบปรามผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายและการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย
นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 ได้มีการแถลงข่าวจับกุมเครือข่ายบริษัทผู้นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาละเมิดเครื่องหมายการค้าในพื้นที่เป้าหมาย ลักษณะเป็นห้องคอนโดมิเนียมที่ใช้เป็นแหล่งพักสินค้า จำหน่ายให้กับลูกค้าหลายกลุ่ม หลังจากนั้นได้มีการขยายผลสืบสวนแกะรอยเส้นทางการกระทำผิดจนกระทั่งพบเบาะแสใหม่ ซึ่งเป็นข้อมูลผู้ที่ลักลอบขายฟิลเลอร์ ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ชื่อ TD-KHEM เพื่อทำการติดต่อซื้อโบท็อกซ์ และ ฟิลเลอร์ ในราคา 4,900 บาท
พร้อมทั้งยังได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมด ส่งตำรวจเพื่อสืบสวนเชิงลึกกระทั่งพบต้นตอของผู้ที่กระทำความผิด จึงนำไปสู่การเข้าตรวจค้นเป้าหมาย พบของกลางแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. ยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา อาทิ วิตามินบีรวมชนิดฉีด เช่น โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ 2. กลุ่มยาไม่มีทะเบียน เช่น โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ คอลลาเจน กลูตาไธโอน วิตามินซีไลโป และ 3. เครื่องสำอางที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย และ เครื่องสำอางที่แสดงฉลากภาษาไทยไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง
นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า อย.พร้อมร่วมมือกับทาง บก.ปคบ. กวาดล้างยาไม่มีทะเบียนตำรับยา และ สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่ทราบว่าผลิตที่ใด สถานที่ผลิตได้มาตรฐานหรือไม่ ตัวยาเป็นตัวยาจริงหรือไม่ อาจมีการปนเปื้อนสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตราย การเก็บรักษาไม่อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม อาจส่งผลต่อคุณภาพของตัวยาที่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
โดยขอย้ำเตือนไปยังผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และ สถานพยาบาลทุกแห่ง ทั้งแพทย์ผิวหนังแพทย์ศัลยกรรม แพทย์ด้านความงาม จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ต้องมีจรรยาบรรณ แห่งวิชาชีพต้องใช้ยาที่มีทะเบียนตำรับยา และ ให้การบริการเป็นไปตามมาตรฐานด้วย หากพบการกระทำความผิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย กรณีพบแพทย์เป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเสียเอง จะต้องถูกส่งไปยังแพทยสภาให้ดำเนินการเอาผิดทางจรรยาบรรณแพทย์ต่อไป
ขณะที่เภสัชกรหญิงสุภัทรา กล่าวว่า ขอเตือนประชาชนโดยเฉพาะสาวๆ ทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ ให้ระมัดระวังการเข้ารับบริการ หากมีความประสงค์ที่จะฉีดสารใดๆ เพื่อความสวยงาม ควรเข้ารับบริการฉีดกับสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาลตามกฎหมาย เลือกคลินิกที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและต้องอยู่ประจำ ก่อนการฉีดควรสอบถามและขอดูตัวยาที่ใช้ว่ามีการอนุญาตขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจาก อย. หรือไม่ และ ขอย้ำเตือนไปยังผู้บริโภคอย่าซื้อยาไปใช้เอง หรือฉีดกับหมอเถื่อน อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เพราะการฉีดยาบนใบหน้าต้องดำเนินการโดยแพทย์ที่มีความรู้ด้านกายวิภาคบนใบหน้าเป็นอย่างดี เนื่องจากบนใบหน้ามีกล้ามเนื้อเล็ก ๆ และเส้นเลือดมากมาย จึงต้องฉีดด้วยความระมัดระวัง หากเกิดอันตรายจากการแพ้ ทางสถานพยาบาลจะได้รับผิดชอบและช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ซึ่งที่ผ่านมาอย. ได้ตรวจสอบคลินิกและสถานพยาบาลเสริมความงาม พบว่ามีการนำสาร โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ คอลลาเจน กลูตาไธโอน ที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนมาใช้ในสถานพยาบาล ซึ่งอย. มีการตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอยู่เสมอ
ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ดังนี้
- นำเข้าและขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- นำเข้าและขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ผิดฐาน จำหน่ายเครื่องสำอางที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทยและเครื่องสำอางที่แสดงฉลากภาษาไทยไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ผิดฐาน จำหน่าย เสนอจำหน่าย มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ในราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 4 ปีหรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- จำหน่าย เสนอจำหน่าย มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ในราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังมีความผิดตามกฎหมายของศุลกากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ฐานนำเข้าของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้าย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศุลกากร โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับ 4 เท่า ของราคาของที่รวมค่าอากรด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับและริบของนั้นด้วย