บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า สูบบุหรี่ไฟฟ้า โรคปอดอักเสบ

สูบบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงโรคปอดอักเสบรุนแรง

นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าและบุคคลรอบข้างที่สัมผัสควันหรือละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคปอดอักเสบรุนแรง โดยโรคดังกล่าวอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งขณะนี้ในสหรัฐอเมริกา จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคปอดอักเสบรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา (CDC)…

Home / NEWS / สูบบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงโรคปอดอักเสบรุนแรง

ประเด็นน่าสนใจ

  • กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงเป็นโรคปอดอักเสบรุนแรง อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ในสหรัฐอเมริกา จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคปอดอักเสบรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น
  • พบผู้เสียชีวิตรายที่ 7 จากอาการป่วย ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า

นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าและบุคคลรอบข้างที่สัมผัสควันหรือละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคปอดอักเสบรุนแรง โดยโรคดังกล่าวอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งขณะนี้ในสหรัฐอเมริกา จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคปอดอักเสบรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกัน ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินรับมือผู้ป่วยโรคปอดอักเสบรุนแรงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า หลังพบผู้ป่วยรายที่ 7 เสียชีวิต

และจากรายงานการสอบสวนโรค พบว่าอาการที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ อาการหายใจถี่ เจ็บหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดท้อง มีไข้ หรืออาจมีอาการน้ำหนักลดร่วมด้วย

นอกจากนี้ การตรวจรักษาในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายภาวะการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจโดยทั่วไป แต่เมื่อทำการรักษาแล้วกลับพบว่าอาการไม่ดีขึ้นแต่อย่างใด และนำไปสู่ภาวะโรคปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งโรคดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการได้รับสารเคมีจากการสูบละอองไอของบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไป

กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนทั้งที่เป็นผู้สูบและผู้ที่มีโอกาสได้สัมผัสหรือรับละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงหลักของโรคปอดอักเสบรุนแรง อย่าได้หลงเชื่อคำโฆษณาว่าเป็นสินค้าทางเลือกในการช่วยเลิกสูบบุหรี่ หรือตกเป็นเหยื่อให้กับสินค้าทำลายสุขภาพชนิดนี้ เพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดการเสพติดสารนิโคตินเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ทั่วไป ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค 0 2590 3850 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422