ข่าวสดวันนี้ รัฐธรรมนูญก้าวหน้า ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ

ไอติม พริษฐ์ นำทีมร่วม ครช. รณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ

ที่ ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา พร้อมด้วยตัวแทนสถาบันและกลุ่มทางสังคม ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) โดยร่วมกับกลุ่มภาควิชาการ ภาคนักศึกษา นักกิจกรรม ภาคประชาชน กว่า…

Home / NEWS / ไอติม พริษฐ์ นำทีมร่วม ครช. รณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ

ประเด็นน่าสนใจ

  • สาเหตุของการเชิญชวนแก้ รธน. เพราะเนื้อหารัฐธรรมนูญไม่ได้ยึดโยงกับกติกาสากล
  • ยกระบบรัฐสภาเดี่ยว เพื่อความเท่าเทียมของทุกเสียง
  • การแก้ รธน. ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น

ที่ ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา พร้อมด้วยตัวแทนสถาบันและกลุ่มทางสังคม ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

โดยร่วมกับกลุ่มภาควิชาการ ภาคนักศึกษา นักกิจกรรม ภาคประชาชน กว่า 30 กลุ่ม ได้แก่ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง , ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ , สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธีศึกษา ม.มหิดล , สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,

สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย , กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ , กลุ่มดาวดิน , สมัชชาคนจน , iLaw , กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย , เครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า เป็นต้น ในการเคลื่อนไหวแก้ รธน. โดยมี ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ร่วมด้วย

การชวนแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูยฉบับนี้ ไม่ยึดโยงกับกติกาสากล

ทั้งนี้ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัครส.ส. กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำเครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวว่า การเข้ามามีส่วนร่วมใน ครช. หากใช้ความหนักแน่นเรื่อง “ประชาธิปไตย” เป็นเกณฑ์หลัก ตนเองน่าจะชัดเจนเพราะการลาออกจากพรรคการเมืองหนึ่งก็เพราะคำนี้

แต่ประเด็นที่ให้ความสำคัญมากส่วนหนึ่งก็คือ “ รัฐธรรรมนูญ ” มีความไม่สบายใจในที่มาของรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชน และหลายกติกา หลายเนื้อหาในรัฐธรรมนูญไม่ได้ยึดโยงกับกติกาสากล

ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญ มีการระดมความเห็น และรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนใกล้จะเสร็จสิ้นแล้วจึงได้มีการเปิดช่องทางสื่อสารผ่านทางเฟซบุ๊กในชื่อเพจ “ รัฐธรรมนูญก้าวหน้า” โดยจะเริ่มเผยแพร่ความเห็นที่เราศึกษามาเพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

การแก้ รธน. ต้องแก้ปัญหาในอนาคต

ส่วนเหตุผลที่เลือกใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญก้าวหน้า” เพราะเราอยากให้ยึดเหตุผล 3 ประการคือ

  1. กติกาต้องเป็นกลาง จะทำให้ประชาชนที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้
  2. ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องมีฉบับก้าวหน้า ที่ทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ โดยยึดคุณค่าหลักที่ผู้คนสามารถที่จะเห็นได้ ไม่ใช่การต่อสู้ในเรื่องเห็นด้วยไม่เห็นด้วยเท่านั้น
  3. รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขปัญหาในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น

โดยข้อเสนอของกลุ่มมี 3 ข้อเสนอ ดังนี้

  1. รูปแบบการแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชน ควรจะต้องเขียนด้วยภาษาที่ประชาชนเข้าใจง่าย และสั้นกว่าฉบับปัจจุบัน
  2. กระบวนการที่จะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากเราอยากหาฉันทามติของคนทั้งประเทศ การตั้งคำถามก็สำคัญ ควรแสวงหาจุดร่วมไม่ใช่จุดต่าง วิธีการโหวตโดยอนุมัติ แทนเราจะตั้งคำถามหรือเอาร่างเดียวไปให้ประชาชนโหวตรับหรือไม่รับ ก็เอาหลายๆร่างมาให้ประชาชนเลือกว่า อยากจะได้ร่างไหน ถ้าไม่เห็นด้วยสักร่างเลยก็ไม่เป็นไร แต่นี่จะทำให้ประชาชนไปรณรงค์ในเชิงบวกมากกว่าการบอกว่ารับไม่รับ และต่อสู้กันแต่ละฝ่าย
  3. ข้อเสนอเกี่ยวกับเนื้อหาสาระ จริงๆ มีหลายข้อแต่วันนี้เรื่อง “สมาชิกวุฒิสภา” หรือ ส.ว. เป็นข้อเสนอที่สำคัญที่สุด หากพวกเราเห็นคุณค่าการหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่ากัน ไม่มีอะไรที่เป็นอุปสรรคมากไปกว่าการมีวุฒิสภาปัจจุบัน ข้อเสนอที่เสนอคืออยากจะยื่นข้อเสนอการเปลี่ยนระบบรัฐสภาของไทยเป็น “ระบบรัฐสภาเดี่ยว” ทิศทางของโลกกำลังปรับเข้าสู่การมีสภาเดี่ยว จะประหยัดงบประมาณลง เเละมีการออกกฎหมายที่รวดเร็วมากขึ้น

หนุนให้มีรัฐสภาเดี่ยว เพื่อความเท่าเทียมของ 1 สิทธิ์ 1 เสียง

หลายคนอาจจะกังวลเรื่องระบบสภาเดี่ยว อาจจะกังวลว่าไม่มีวุฒิสภาแล้วใครจะให้ความเชี่ยวชาญเรื่องวิชาชีพ ตนก็อยากเสนอว่าอาจจะเป็นการเพิ่มบทบาทให้สภาวิชาชีพเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ชั้นกรรมาธิการ ในการร่างกฎหมายหลายคนอาจจะกังวลว่าหากไม่มีวุฒิสภาแล้ว ใครจะมาดูแลจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.น้อย

ก็อาจจะต้องให้ประชาชนสามารถที่จะเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้มีคนเข้ามาดูแลผลประโยชน์ของประชาชน สุดท้ายหลายคนกังวลว่า ถ้าไม่มีวุฒิสภาแล้วจะไม่มีใครมาถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ตนก็บอกไว้เลยว่า ไม่มีอะไรที่อันตรายมากไปกว่าการที่ไม่มีส.ว.มาถ่วงดุลอำนาจก็คือ การที่มี ส.ว. ให้ท้ายฝ่ายบริการอย่างเต็มที่ นายพริษฐ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ต้องการรณรงค์เคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น