ประเด็นน่าสนใจ
- ต้นแบบหมู่บ้าน CIV คือ โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เชื่อมโยงการท่องเที่ยว
- เกาะเกร็ด เป็น 1 ใน 9 ชุมชน ที่อยู่ในการดำเนินการ
- CIV ไม่เน้นจำนวนหมู่บาน แต่เน้นความยั่งยืนและการทำให้ชุมชนมีรายได้
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมความสำเร็จต้นแบบหมู่บ้าน CIV เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี สัมผัสวิถีชุมชนมอญ อัตลักษณ์ท้องถิ่น อัญมณีริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ปลื้มนักท่องเที่ยวเพิ่มร้อยละ 70 พร้อมพัฒนาต่อยอดสร้างมาตรฐาน ท่องเที่ยวโฮมสเตย์ จัดแพคเกจกระจายรายได้ให้ชุมชน
นายจารุพันธุ์ จารโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านรายทั่วประเทศ
โดยหนึ่งในโครงการที่ กสอ. ได้ดำเนินการ คือโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village: CIV) หรือ “หมู่บ้าน CIV” ซึ่งเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยว
โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งการส่งเสริมการตลาดออนไลน์และการเชื่อมโยงการตลาด ผ่าน Digital Platform โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว สำหรับชุมชนเกาะเกร็ด เป็น 1 ใน 9 ชุมชน
โดยพื้นที่นำร่องต้นแบบหมู่บ้าน CIV ระยะแรกที่มีความพร้อม ทั้งด้านศักยภาพ มีสภาพภูมิประเทศที่ดี มีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อยู่ในเส้นทางการท่องเที่ยวและการคมนาคมสะดวก นอกจากนี้ ยังมีประเพณีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
มีการประกอบการชีพ วิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่คนภายนอกสามารถเข้าไปเรียนรู้กับคนในชุมชนได้ และมีการบริหารจัดการที่ดี “เดิมมีนักท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะเกร็ดร้อยละ 40
แต่เมื่อ กสอ. ได้เข้ามาดำเนินโครงการหมู่บ้าน CIV พบว่านักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน และเพื่อให้การท่องเที่ยวเกาะเกร็ดมีความน่าสนใจมากขึ้น จึงมีการจัดระบบการท่องเที่ยวใหม่ เช่น การกำหนดปฏิทินการท่องเที่ยว
โครงการนี้ไม่เน้นจำนวนหมู่บ้าน แต่ความยั่งยืนและการทำให้ชุมชนมีรายได้
ทั้งนี้การทำแพ็คเกจท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน รวมถึงการสร้างกิจกรรมของชุมชน โดยเฉพาะการแสดงที่เน้นชูอัตลักษณ์ ชาวมอญ ซึ่งเกาะเกร็ดมีคนไทยเชื้อสายมอญอยู่มากถึงร้อยละ 40 อีกร้อยละ 15 เป็นชาวไทยมุสลิม
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น พัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นมัคคุเทศก์น้อย นำนักท่องเที่ยวเที่ยวชมในพื้นที่ ส่วนผู้สูงอายุ นำมาอบรม พัฒนาความรู้ เพื่อสร้างสรรค์ และพัฒนาสินค้าหรือกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวสนใจเป็นเสน่ห์ของชุมชน
ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นเป็นร้อยละ 90 แน่นอน พร้อมยืนยันว่า กสอ. จะยังคงเป็นพี่เลี้ยงในการประคับประคองชุมชนเกาะเกร็ด ให้ก้าวต่อไปในเรื่องที่ต้องพัฒนา เพราะต้นทุนของที่นี่มีแล้วหากปล่อยทิ้งไปไม่พัฒนาจะทำให้เสียหาย กลายเป็นว่าทำแค่เสร็จแต่ไม่เคยสำเร็จ
ซึ่งนโยบายของ กสอ. ในการทำโครงการหมู่บ้าน CIV เราไม่เน้นจำนวนหมู่บ้าน แต่เน้นความยั่งยืนและการทำให้ชุมชนมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี