กู้เงิน 7 แสนล้าน สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แก้ปัญหาโควิด

‘สุดารัตน์’ แจง 3 ข้อ กังวลการกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านของทางรัฐบาล

ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ให้อำนาจกระทรวงการคลังออกพระราชกำหนดกู้เงินจำนวนไม่เกิน 700,000 ล้านบาท

Home / NEWS / ‘สุดารัตน์’ แจง 3 ข้อ กังวลการกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านของทางรัฐบาล

ประเด็นน่าสนใจ

  • ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ให้อำนาจกระทรวงการคลังออกพระราชกำหนดกู้เงินจำนวนไม่เกิน 700,000 ล้านบาท
  • เพื่อใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19
  • คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มีความกังวลต่อการกู้เงินจำนวนดังกล่าวของรัฐบาล พร้อมแจง 3 ข้อ ในการกู้เงินดังกล่าวของทางรัฐบาล

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคไทยสร้างไทย โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan ระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ให้อำนาจกระทรวงการคลังออกพระราชกำหนดกู้เงินจำนวนไม่เกิน 700,000 ล้านบาท เพื่อใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 พรรคไทยสร้างไทยตระหนักดีว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 รวมถึงผลกระทบต่างๆ แต่เนื่องจากการใช้การใช้เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่ผ่านไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่น และไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ ทั้งด้านการสาธารณสุข และการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

อีกทั้งรัฐบาลนี้ ยังได้กู้เงินจนหนี้สินของประเทศพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ฐานะทางการคลังของประเทศอยู่ในสภาพเปราะบางเป็นอย่างยิ่งพรรคไทยสร้างไทยจึงมีความกังวลต่อการกู้เงินจำนวนดังกล่าวของรัฐบาลดังต่อไปนี้

(1) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2565-2568) โดยการประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2565-2568 โดยรัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 700,000 / 710,000/ 690,500 และ 669,500 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0/ 3.9/ 3.6/ และ 3.4 ต่อจีดีพี และจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสำหรับปีงบประมาณ 2565-2568 เท่ากับ 57.6/ 58.6/ 59 และ 58.7 ตามลำดับ

ตามข้อมูลดังกล่าว กระทรวงการคลังได้ประมาณการสถานะการคลังระยะปานกลางของปีงบประมาณ 2564 มีหนี้สาธารณะคงค้าง 9,081,326 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของจีดีพีที่ประมาณไว้ที่ 16,550,200 ล้านบาท แต่จากเอกสารงบประมาณโดยสังเขปประจำปีงบประมาณ 2565 (หน้า 60) สำนักงบประมาณได้สรุปผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีของปีงบประมาณ 2564 เท่ากับ 16,409,700 ล้านบาท

ซึ่งหากถือตามข้อมูลของสำนักงบประมาณล่าสุดนั้น จะทำให้หนี้สาธารณะคงค้างเท่ากับประมาณร้อยละ 58 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถก่อหนี้ได้อีกไม่เกินร้อยละ 2 หรือประมาณ 300,000 ล้านบาท ดังนั้น การกู้เงินอีกจำนวน 700,000 ล้านบาท จึงเกิดข้อกังวลว่าการกู้ครั้งนี้ ย่อมทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพี สูงเกินกว่าร้อยละ 60 อันเป็นกรอบความยั่งยืนทางการเงินการคลังที่ยึดถือกันมาโดยตลอด

(2) ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ใช้เงินกู้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยออกพระราชกำหนดกู้เงินจำนวน 1.0 ล้านล้านบาทมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ดังจะเห็นได้จากเกิดการแพร่ระบาดจนถึงขณะนี้รวมแล้วถึงสามรอบ แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายรณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity)

แต่ประชาชนก็ยังมีความสับสนทั้งทางด้านคุณภาพของวัคซีน ความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีน และวัคซีนที่ได้รับไปนั้นสามารถป้องกันการติดเชื้อหรือป้องกันการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ รวมทั้งยังมีความสับสนด้านการเข้าถึงซึ่งวัคซีนที่เกิดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐด้วยกันเอง ได้แก่ นายกรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบ ศบค. กับกระทรวงสาธารณสุขที่รับผิดชอบการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจเต็มตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว จะต้องสร้างความเข้าใจอันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่น (trust) ในความปลอดภัยต่อชีวิตของประชาชนเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ (confidence) ที่จะออกมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจอันเป็นหัวใจของการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป

(3) วัตถุประสงค์อันเป็นเป้าหมายของการกู้เงินทั้งสองครั้งจำนวนรวม 1.7 ล้านล้านบาท ได้แก่ การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว ซึ่งหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาคือการทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น (trust) ในด้านความปลอดภัยในชีวิต และเชื่อมั่นในแผนการใช้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอันจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ (confidence) ที่จะออกมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

แต่การที่รัฐบาลเสนอขอกู้เงินจำนวน 700,000 ล้านบาท ที่นอกจากจะมีข้อกังวลว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะสูงเกินกว่าร้อยละ 60 เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว กระบวนการเกี่ยวกับการกู้เงินจำนวนดังกล่าวที่ได้ดำเนินการในคณะรัฐมนตรีอย่างปกปิดเป็นความลับ ยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงควรดำเนินการโดยเปิดเผยโปร่งใสเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งด้านกระบวนการ เป้าหมายและประสิทธิผลของการใช้เงิน ที่จะต้องชดใช้คืนจากภาษีอากรของประชาชน

ทั้งหมดนี้คือความกังวล ต่อการกู้เงินจำนวน 700,000 ล้านบาท ที่นอกจากจะดำเนินการโดยไม่เปิดเผยโปร่งใสแล้ว ยังจะสร้างความไม่เชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงเกินร้อยละ 60 เกินเสถียรภาพและกรอบความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ขัดต่อพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศทางด้านการคลังลดลง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นอันเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

พรรคไทยสร้างไทย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงข้อกังวลตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เพื่อให้ประชาชนได้มั่นใจว่า เงินกู้ซึ่งจะเป็นภาระของประชาชน ที่จะต้องเป็นผู้ใช้หนี้เงินกู้ของรัฐบาล จะถูกใช้อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ ต่อการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้โดยพรรคไทยสร้างไทย อาสาเป็นกระบอกเสียง ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลให้กับพี่น้องประชาชนอย่างจริงจังต่อไป