ธรรมนูญสุขภาพ อ่าวนาง

เปิดตำรา!! ธรรมนูญสุขภาพ สานพลังท้องถิ่นสางปัญหาขยะท่วม ต.อ่าวนาง อย่างยั่งยืน

            เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราคงได้เห็นกระแสของ มาเรียม น้องพยูนตัวน้อยน่ารักขวัญใจคนไทย ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าจากอาการช็อก โดยพบต้นเหตุมาจากเศษพลาสติกอุดตันขวางลำไส้ จนติดเชื้อในกระแสเลือด จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากฝีมือของมนุษย์อย่างเราๆ  นั่นคือ การทิ้งขยะลงสู่ทะเล             ‘ขยะ’ นับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่ปัจจุบันทุกฝ่ายจะตื่นตัวและหันมาใส่ใจกับการลดปริมาณขยะและพลาสติกมากขึ้น…

Home / NEWS / เปิดตำรา!! ธรรมนูญสุขภาพ สานพลังท้องถิ่นสางปัญหาขยะท่วม ต.อ่าวนาง อย่างยั่งยืน

ประเด็นน่าสนใจ

  • ต.อ่าวนางมีขยะเฉลี่ยวันละ 65-70 ตัน หรือ กว่า 50% ของขยะทั้งหมดในกระบี่
  • ชาวบ้านร่วมตั้ง ธรรมนูญสุขภาพ วางเป้าหมายร่วมกันในการจัดการขยะตามถนัด
  • ธรรมนูญสุขภาพ ประสบผลสำเร็จอย่างสวยงาม ในการจัดการปัญหาขยะมูลฝอย

            เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราคงได้เห็นกระแสของ มาเรียม น้องพยูนตัวน้อยน่ารักขวัญใจคนไทย ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าจากอาการช็อก โดยพบต้นเหตุมาจากเศษพลาสติกอุดตันขวางลำไส้ จนติดเชื้อในกระแสเลือด จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากฝีมือของมนุษย์อย่างเราๆ  นั่นคือ การทิ้งขยะลงสู่ทะเล

            ‘ขยะ’ นับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่ปัจจุบันทุกฝ่ายจะตื่นตัวและหันมาใส่ใจกับการลดปริมาณขยะและพลาสติกมากขึ้น แม้ปัญหาเหล่านี้จะยังไม่หมดไป แต่เชื่อว่าหากทุกคนร่วมมืออย่างจริงจัง โลกเราก็จะน่าอยู่มากขึ้น และการเสียชีวิตของมาเรียมในครั้งนี้จะไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอน

            ชาวอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของจัดการขยะที่ดี พวกเขาผนึกกำลังกันสร้าง ธรรมนูญสุขภาพอ่าวนาง หลายคนอาจฟังดูแล้วรู้สึกแปลกๆ หรือไม่คุ้นชินกัน แต่ “ธรรมนูญสุขภาพ” นี่แหละ คือเครื่องมือสร้างกติกาหนุนเสริมการทำงานของท้องถิ่นเพื่อสางปัญหา ขยะท่วมตำบลอ่าวนาง ได้อย่างยั่งยืน

 5 ปีก่อนกับปัญหาขยะท่วม.อ่าวนาง

            หากย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วก่อนจะเกิด ธรรมนูญสุขภาพฯ ตำบลอ่าวนางมีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ยวันละ 65-  70 ตัน คิดเป็นกว่า 50% ของขยะทั้งหมดในจังหวัดกระบี่ โดยระหว่างปี 2558 – 2560 อบต.อ่าวนาง ต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดการไม่ต่ำกว่าปีละ 28 ล้านบาท เพราะต้นทางของขยะ มาจากคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นหลัก

            ภาพของตำบลอ่าวนางจะเต็มไปด้วยความสกปรกเลอะเทอะ ขยะเต็มสองข้างทาง บางครั้งก็มีการเผาขยะริมถนน ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หากจะสรุปปัญหาของตำบลอ่าวนาง พบว่ามี 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ ทิ้งขยะไม่เป็นเวลา ทิ้งขยะเรี่ยราด และปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล อบต.อ่าวนาง จึงพยายามรณรงค์ให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ จัดทำโครงการแลกขยะกับเครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ตลอดจนสร้างสถานีขยะเป็นจุดทิ้งขยะขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาเบาบางลง

            ที่ผ่านมา อบต.อ่าวนาง ทำงานอย่างจริงจังมาก แต่ชาวบ้านไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปัญหาขยะจึงคงอยู่มาเป็นสิบปี จนกระทั่งเกิดสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่และมีการนำเรื่องนี้เข้าไปพูดคุย ก่อนจะเกิดการผลักดันให้ตำบลจัดทำธรรมนูญสุขภาพขึ้นมา ในช่วงแรก ชาวบ้านยังไม่ค่อยเข้าใจ ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม แต่เมื่อผู้นำชุมชนได้เอ่ยปากชักชวนต่อๆ กันไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมีคนมาเข้าร่วมมากขึ้น ทั้งกรรมการหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยราชการ โรงเรียน ผู้นำศาสนา ผู้ประกอบการ ห้างร้าน ชมรมสามล้อ กลุ่มเรือหางยาว ฯลฯ เมื่อคนเข้าร่วมมากขึ้นก็เริ่มมองเห็นปัญหาร่วมกัน สุดท้ายก็พร้อมใจกันปฏิบัติตามข้อกำหนดในธรรมนูญสุขภาพฯ

สู่ธรรมนูญสุขภาพที่ทุกคนมีส่วนร่วม

            ผู้ที่เข้าร่วมในกระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพฯ เริ่มตระหนักรู้และได้กลับไปดำเนินการตามบทบาทและความถนัดของตัวเอง โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการจัดการขยะตามถนัดในแต่ละอาชีพ และยังมาตรการในการจัดการของกลุ่มตัวเอง เช่น กลุ่มเรือหางยาวจะเฝ้าระวังนักท่องเที่ยวให้นำขยะกลับมาทิ้งบนฝั่ง หรืออย่างผู้ประกอบการก็มีการจัดการ เรื่องการคัดแยกขยะ การจัดการน้ำเสีย เป็นต้น รวมถึงต่อยอดการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น กิจกรรม Big Cleaning Day ประจำเดือน จะใช้ทุกวิถีทางในการแก้ไขปัญหา ทั้งการออกเทศบัญญัติหรือกฎกติกาต่างๆ แต่ด้วยสิ่งเหล่านั้นถูกกำหนดมาจากภาครัฐหรือท้องถิ่น จึงแตกต่างกับธรรมนูญสุขภาพฯ ที่มีลักษณะเป็นกฎกติกาเหมือนกันแต่เกิดจากทุกคนในชุมชนมาตกลงร่วมกัน ดังนั้นธรรมนูญสุขภาพจึงนับเป็นอำนาจอ่อนของชุมชนที่ทุกคนมองเห็นปัญหาร่วมกัน เมื่อเกิดข้อตกลงร่วมจนเป็นกติกาสังคมขึ้นมาแล้ว ท้องถิ่นก็ได้นำกติกาสังคมนั้นไปยกระดับเป็นเทศบัญญัติที่ทุกคนยอมรับ ซึ่งเท่ากับอำนาจอ่อนและอำนาจแข็งได้เคลื่อนพร้อมกัน ตรงนี้ก็จึงนำมาสู่ผลิตผล นั่นคือรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา

ยกตัวอย่าง ธรรมนูญสุขภาพ

         ธรรมนูญสุขภาพหมู่ที่ 5 บ้านทุ่งตำบลอ่าวนาง ประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 แบ่งออกเป็น 7 หมวด รวมทั้งสิ้น 34 ข้อ โดยมีข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้อง อาทิ

            ข้อที่ 3 ประชาชน/สถานประกอบการต้องมีส่วนร่วมในการรักษาความสะอาดเรียบร้อย และห้ามทิ้งขยะลงบนถนน ไหล่ทาง ที่สาธารณะ หากไม่ปฏิบัติตามต้องยินยอมเสียค่าปรับ ครั้งละ 2,000 บาท และเทศกิจหรือผู้ที่สามารถชี้ตัวผู้กระทำผิดและสามารถเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้ จะได้รับเงินรางวัลส่วนแบ่งจากค่าปรับ จำนวน 1,000 บาท

            ข้อ 4 ครัวเรือนและสถานประกอบการทุกแห่งต้องนำขยะมูลฝอยบรรจุใส่ถุงดำและผูกปากถุงให้มิดชิด และนำมาวางหน้าบ้านตนเองริมเส้นทางจราจร หรือจุดที่กำหนด ระหว่างเวลา 19.00 – 24.00 น.

            ข้อ 15 ครัวเรือนและสถานประกอบการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด โดยลดปริมาณการใช้ มีการคัดแยกขยะในครัวเรือนของตนเอง และส่งเสริมให้มีการนำขยะไปเพิ่มมูลค่า เป็นต้น

ธรรมนูญสุขภาพ แก้ปัญหาขยะได้อย่างไร

            จากที่ ธรรมนูญสุขภาพภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550  เข้ามาสนับสนุนการทำงาน โดยทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาขยะและน้ำเสีย คือสิ่งที่ทุกคนอยากให้แก้ไข ในธรรมนูญสุขภาพจึงมีข้อบัญญัติถึงกติกาและแนวปฏิบัติเพื่อจัดการขยะร่วมกัน

            อบต.อ่าวนาง ได้เก็บถังขยะกลับมาทั้งหมด และทดลองเปลี่ยนมาใช้ถุงดำแทน โดยธรรมนูญสุขภาพได้บัญญัติให้ครัวเรือนและสถานประกอบการทุกแห่งต้องนำขยะบรรจุใส่ถุงดำ ผูกปากถุงให้มิดชิด และนำมาวางในจุดที่กำหนดระหว่างเวลา 19.00 – 24.00 น. จากนั้นทาง อบต.อ่าวนาง ก็จะส่งรถขยะออกไปจัดเก็บ

            นอกจากนี้ อบต.อ่าวนาง ยังให้ความสำคัญกับการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง จึงรณรงค์ให้ครัวเรือนและผู้ประกอบการคัดแยกขยะ เนื่องจากขยะในตำบลอ่าวนางมีจำนวนมาก ทำให้เป็นที่หมายปองของซาเล้งเก็บของเก่าทั้งในและนอกพื้นที่ เราจึงได้จัดทำ โครงการสายตรวจซาเล้ง” คือเปิดให้กลุ่มซาเล้งมาขึ้นทะเบียน กรอกประวัติ และรับเสื้อกั๊กอย่างถูกต้อง สุดท้ายคนกลุ่มนี้จะช่วยคัดแยกขยะ สามารถนำไปขายสร้างรายได้ และยังช่วยเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสความไม่ชอบมาพากลให้กับเจ้าหน้าที่อีกแรงหนึ่ง โดยประเด็นการคัดแยกขยะก็ถูกบรรจุอยู่ในธรรมนูญสุขภาพด้วยเช่นกัน

            ทุกวันนี้มี สายตรวจซาเล้ง ลงทะเบียนอยู่ 52 คัน ถ้าแต่ละคันสามารถแยกขยะออกไปขายได้วันละ 100 กิโลกรัม ก็เท่ากับช่วยกำจัดขยะออกไปจากระบบมากถึงกว่าวันละ 5 ตัน ส่วนตัวคิดว่ากลุ่มซาเล้งก็มีส่วนสำคัญในการลดขยะ และหากทุกครัวเรือนรู้จักแยกขยะไปขายเองได้ นอกจากจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแล้วยังจะช่วยลดจำนวนขยะในอ่าวนางได้อีกมาก

ผลลัพธ์จาก ธรรมนูญสุขภาพ

            โดย เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดกิจกรรม ธรรมนูญเขยื้อนขยะสร้างสุขภาวะคนอ่าวนาง เพื่อติดตามผลจากการใช้เครื่องมือธรรมนูญสุขภาพระดับตำบลหนุนเสริมการทำงานขององค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง ในการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่ที่เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

            เหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการตระหนักและขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง หากเราเริ่มด้วยตัวเอง ทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกทาง ลด ละ เลิกการใช้พลาสติกและช่วยกันคนละไม้ละมือ เพียงเท่านี้ เราก็น่าจะเป็นพลังเล็กๆ ที่ช่วยสร้างโลกทั้งใบให้น่าอยู่ได้

#มาเรียม #ปัญหาขยะ #ธรรมนูญสุขภาพ #สช #สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ