ประเด็นน่าสนใจ
- ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 74% มาจากการขับขี่รถจักรยานยนต์
- ไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก
- กระทรวงคมนาคม เล็งออกกฎควบคุมบิ๊กไบค์ จำกัดความเร็ว – เพิ่มโทษ
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ ว่า ตามนโยบายของนายศักดิ์สยามชิดชอบ รมว.คมนาคมได้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาและออกมาตรการความปลอดภัย เพื่อลดสถิติอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตจากการขับขี่จักรยานยนต์
เนื่องจากผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 74% มาจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ประกอบกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แสดงความกังวลว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก
อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมจะตั้งคณะทำงานเร่งสรุปผลแนวทางดำเนินการภายใน 30 วัน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป ซึ่งบางมาตรการสามารถออกมาบังคับใช้ได้ภายในปี 2562 ผ่านทางประกาศกระทรวงคมนาคม บางเรื่องต้องใช้เวลาดำเนินงานผ่านการแก้กฎหมายขนส่งและจราจรของประเทศโดย
เบื้องต้น จะตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมา 3 ชุด ได้แก่ คณะทำงานด้านยานพาหนะ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการบังคับใช้กฎหมายและการประชาสัมพันธ์ เพื่อจัดทำมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์
สำหรับเริ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมาย เข้มงวดและเพิ่มโทษของผู้ขับขี่จักรยานยนต์ เริ่มจากการนำระบบตัดแต้มมาใช้กับรถจักรยานยนต์ พร้อม ใช้กล้องจับผิดพฤติกรรมการขับขี่รถขนาดเล็กและเชื่อมระบบใบสั่งกับใบขับขี่ ใครไม่จ่ายห้ามต่อภาษีประจำปี เป็นต้น
ขณะที่รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ (บิ๊กไบค์) จะมีการออกกฎหมายห้ามวิ่งแทรกในช่องจราจรเหมือนมอเตอร์ไซด์ขนาดเล็ก ซึ่งบิ๊กไบค์ต้องจอดรอรถติดเข้าแถวเหมือนรถยนต์ โดยจะมีระบบกล้องจับผิดพฤติกรรมเพื่อลงโทษ นอกจากนี้จะพิจารณาควบคุมความเร็วบิ๊กไบค์ ห้ามขับเกิน 80 กม./ชม. ในเขตเมืองและชุมชน
ส่วนการแก้ไขใบอนุญาตขับขี่จักรยานยนต์ โดยจะมีการแก้กฎหมายเพื่อแยกประเภทใบขับขี่จักรยานยนต์แบ่งเป็นขนาดเล็กและขนาดใหญ่ หลังจากนี้จะลงรายละเอียดขนาดของเครื่องยนต์ตามใบขับขี่ เช่น รถขนาดเล็กไม่เกิน 100 cc และรถบิ๊กไบค์ตั้งแต่ 300-400 cc ขึ้นไป
นายจิรุตม์ กล่าวว่า จะเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการสอบภาคปฏิบัติเพื่อออกใบขับขี่ โดยเฉพาะบิ๊กไบค์ที่ต้องจัดทำสนามสอบภาคปฏิบัติใหม่ ควบคู่ไปกับการนำระบบจำลองสถานการณ์จริง มาใช้ร่วมกับบททดสอบภาคปฏิบัติ
เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ใช้การทดสอบระดับนี้ในการวัดจิตสำนึกความปลอดภัย (Safety Mindset) มาเป็นหนึ่งในเกณฑ์ให้คะแนนผู้ขับขี่ด้วย เหตุการณ์จำลองเสมือนจริง เช่น การขับบนสภาพฝนตกถนนลื่น สถานการณ์มีรถหรือวัตถุพุ่งตัดหน้า สถานการณ์กลับรถและสถานการณ์คับขันเมื่อรถกำลังจะชน เป็นต้น