เรือนจำกลางเชียงใหม่ โควิด-19

เชียงใหม่ แถลงกรณีพบผู้ต้องขังติดเชื้อกว่า 3 พันราย

มีผู้ต้องขังที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 แล้ว 3,793 ราย จากผู้ต้องขัง 6,311 ราย

Home / NEWS / เชียงใหม่ แถลงกรณีพบผู้ต้องขังติดเชื้อกว่า 3 พันราย

ประเด็นน่าสนใจ

  • สถานการณ์การพบผู้ป่วยในเรือนจำกลางเชียงใหม่นั้น อยู่ในแผนงาน Bubble & Seal ที่ได้ดำเนินการมาแล้ว ราว 3 สัปดาห์
  • มีผู้ต้องขังที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 แล้ว 3,793 ราย จากผู้ต้องขัง 6,311 ราย ซึ่งจำนวนราว 1,700 รายจะพ้นระยะกักตัวแล้วในช่วง 1-2 วันนี้, มีผู้ต้องขังที่มีภูมิคุ้มกันแล้ว ราว1,532 ราย และไม่พบเชื้อ-ภูมิคุ้มกัน 923 ราย
  • ส่วนผู้คุม-จนท. มีรายงานติดเชื้อ 2 ราย ส่วนที่เหลือทั้งหมดฉีดวัคซีนแล้ว
  • ยังคงอยู่ในเป้าหมายที่จะส่งคืนพื้นที่ปลอดเชื้อได้ในวันที่ 28 พ.ค. นี้ โดยภายในเรือนจำกลางเชียงใหม่จะมีระดับภูมิคุ้มกันสูงกว่า 90% ของผู้ต้องขังทั้งหมด

วันนี้ ( 17 พ.ค. ) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แถลงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำกลางเชียงใหม่เพิ่มเติม โดยระบุว่า

ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย. 64 ที่ผ่านมา มีการพบการติดเชื้อในเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มีการหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้วางแผนการทำ Bubble & Seal ในกรอบ 28 วัน มีการล็อกดาวน์ในทุกห้อง ทุกแดน และตรวจค้นหาผู้ป่วยเพิ่มทุก 14 วัน โดยจะมีการตรวจหาเชื้อทั้งหมด และส่งคืนพื้นที่ปลอดโรค ให้กับพื้นที่ในเรือนจำได้ ในขณะนี้ เข้าสู่ช่วงระยะที่ 3 ของการดำเนินการ และคาดว่าจะดำเนินการส่งคืนพื้นที่ตามกำหนดคือ 28 พ.ค. ที่จะถึงนี้

สำหรับจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวนกว่า 3 พันรายที่พบนั้น อยู่ภายใต้การดูแลของการควบคุมทั้งผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ และผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้วที่จะมีการกักตัวต่อเนื่องอีก 14 วัน ซึ่งทั้งหมดยังคงเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตโดยทั่วไปของประชาชนที่อยู่ภายนอก

โดยในการปฏิบัติงานนั้น เป็นไปตามขั้นตอนที่มีการวางแผนไว้แล้ว จากโมเดลที่เรือนจำนราธิวาส เป็นเวลา 17 วันแล้ว ดังนั้นจึงขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจในการจัดการรับมือกับการระบาดดังกล่าว

แผนการ Bubble & Seal ในเรือนจำ

ในการควบคุมโรคนั้นมีแนวทางการดำเนินงานสองลักษณะคือ ในพื้นที่เปิด สำหรับประชาชนทั่วไป จะเป็นแนวทางตามที่ ศบค. กำหนดไว้ ในอีกแนวทางหนึ่งคือ การควบคุมโรคในพื้นที่ปิด เช่น เกาะ โรงงานที่มีที่พักอยู่ภายใน หรือภายในเรือนจำ

ซึ่งจะในเรือนจำจะเป็นการดำเนินการอีกรูปแบบหนึ่ง สำหรับในพื้นที่ปิด โดยได้ขออนุมัติการควบคุมโรค แบบ Bubble & Seal ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ 26 เมษายน 64 รวมถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ในรูปแบบเดียวกับโรงพยาบาลสนามจากเรือนจำนราธิวาส โดยตั้งสมมุติฐานว่า ทุกคนในพื้นที่ปิดนั้น ติดเชื้อแล้ว จึงจะมีการดำเนินการคือ

  • จำกัดขอบเขต ไม่ให้กระจายจากแดนสู่แดน , จากเรือนจำสู่ภายนอก ได้มีการทำการปิด แดนต่าง ๆ จำนวน 14 วัน จำนวน 2 รอบ รวมแล้ว 28 วัน
  • เร่งค้นหาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน
  • จัดตั้ง รพ. สนามเพื่อรองรับผู้ป่วยภายในเรือนจำที่มีขีดความสามารถ ในการรับผู้ป่วยตั้งแต่ระดับเขียว – เหลือง – ส้ม
  • ตรวจภูมิคุ้มกันให้กับผู้ต้องขัง จำนวน 2 รอบ รวม 28 วัน โดยคาดว่าจะมีระดับภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มผู้ต้องขังราว 90% (อ้างอิงจากข้อมูลที่เรือนจำนราธิวาส, กลุ่มโรงงานที่สมุทรสาคร และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรือสำราญในต่างประเทศก่อนหน้านี้) เหลือเพียง 10% ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีการตรวจหาเชื้อทุกราย ด้วยวิธี RT-PCR

จากแผนงานที่วางไว้ เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการจัดการและควบคุมการระบาดได้ รวมถึงสามารถส่งคืนพื้นที่ปลอดโรคให้กับทางเรือนจำได้ ภายใน 28 วัน โดยในขณะนี้ผ่านมา 3 สัปดาห์ มีจำนวนผู้ป่วยในระดับสีแดงที่ต้องส่งตัวมารับการรักษาภายนอก 6 ราย

ในช่วง 1 สัปดาห์ที่เหลือจะมีการตรวจหาเชื้อในกลุ่มผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน และประเมินว่า จะสามารถส่งคืนพื้นที่เรือนจำได้ในวันที่ 28 พ.ค. ทั้งหมดยังคงเป็นไปในกรอบดำเนินการตามแผนที่วางไว้

ผลการทำ Bubble & Seal

ในการดำเนินการนั้น เป็นพื้นที่ที่มีขีดจำกัดนั้น ในเบื้องต้นได้มีการดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์จัดกักกัน จำนวน4 แห่ง และรพ.สนาม เพื่อทำหน้าที่รองรับผู้ป่วยที่เกินกว่า รพ.ในเรือนจำจะรับได้ก่อนการส่งต่อไปยัง รพ.ภายนอก

เรือนจำกลางเชียงใหม่ มีผู้ต้องขังราว 6 พันกว่าราย ในจำนวน 10 แดน พบว่า ราว 24.27% ของผู้ต้องขังมีภูมิคุ้มกันแล้วซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่แทบจะไม่มีโอกาสติดเชื้อในอนาคต

มีผู้ต้องขังจำนวน 60% นั้นเป็นผู้ที่ติดเชื้อ แต่มีจำนวน 44% หรือราว 1,700 ราย ที่จะพ้นระยะการกักตัว-รักษาแล้ว ในช่วง 1-2 วันนี้ ซึ่งจะไม่มีโอกาสแพร่เชื้อ ดังนั้นถือว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในผู้ต้องขังได้ ไม่มีการแพร่กระจายออกสู่ภายนอก

สำหรับในเรือนจำนั้น ทางเรือนจำกลางเชียงใหม่ ระบุว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำมีความเข้าใจการดูแลและดำเนินการรักษาผู้ต้องขังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสถานการณ์อยู่ในการควบคุม จึงขอให้ประชาชนหรือญาติผู้ต้องขังสบายใจได้

ไทม์ไลน์การพบผู้ต้องขังติดเชื้อในเชียงใหม่

20 เมษายน 64 – พบผู้ต้องขังในเรือนจำกลางเชียงใหม่ จำนวน 37 ราย ติดโควิด-19 ในแดนแรกรับ จากจำนวนผู้ต้องขังในแดนดังกล่าว 82 ราย

26 เมษายน 64 – มีการหารือและดำเนินการจัดตั้ง รพ.สนาม หลังจากพบจำนวนผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด19 ต่อเนื่อง จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงกลางวันร่วมกัน ในส่วนต่าง ๆ วางมาตรการ Bubble & Seal รูปแบบเดียวกับสมุทรสาคร ควบคุมการแพร่ระบาดระหว่างแดน

30 เมษายน 64 – มีการหารือแนวทางเพิ่มเติม ได้มีการจัดกำลังพล เข้ามาร่วมในการวางแผนจัดทำ รพ. สนาม ทั้งจนท. และแพทย์สนาม ทำการตรวจค้นหาผู้ป่วยที่เป็นผู้ต้องขัง เพื่อรองรับผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ