ประเด็นน่าสนใจ
- พบรอยเลื่อนมีพลังในไทยแห่งใหม่นับเป็นแห่งที่ 16
- รอยเลื่อนแห่งนี้ชื่อว่า “รอยเลื่อนเวียงแหง”
- รอยเลื่อนนี้อาจทำให้มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้สูงสุดอยู่ที่ระดับ 6.7 ในรอบ 2,000 ปี
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณี ค้นพบรอยเลื่อนมีพลังแห่งใหม่ “รอยเลื่อนเวียงแหง” นับเป็นรอยเลื่อนที่ 16 ของประเทศไทย ที่วางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ บริเวณใกล้ชายแดนประเทศเมียนมา จากอำเภอเวียงแหงถึง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มีอัตราการเลื่อนตัวระยะทางยาว 0.11 มิลลิเมตรต่อปี จัดเป็นชนิดรอยเลื่อนปกติที่มีการเลื่อนตัวลงในแนวดิ่งเป็นหลัก ภาพรวมรอยเลื่อนใหม่นี้จะไม่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเหมือนกับรอยเลื่อนสกายของเมียนมา แต่อาจจะได้รับผลกระทบหากรอยเลื่อนสกายขยับ หรือเคลื่อนตัวรุนแรง
รอยเลื่อนเวียงแหง หากมีการขยับตัวแผ่นดินจะไหวจะอยู่ที่ระดับ 2-3 และมีโอกาสขยับตัวแผ่นดินจะไหวสูงสุดอยู่ที่ระดับ 6.7 เท่ากับที่รอยเลื่อนนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 2,000 ปีที่ผ่านมา จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แนวรอยเลื่อนใหม่ไม่ต้องกังวล ในส่วนของอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนที่อยู่ใกล้แนวรอยเลื่อนเวียงแหงไม่ต้องกังวล คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพราะตัวเขื่อนต่างๆ สามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ถึงระดับ 7 ขณะเดียวกันกรมโยธาธิการและผังเมืองจะเร่งวิจัยรอยเลื่อนใหม่นี้เพื่อออกแบบโครงสร้างอาคารบ้านเรือนให้สามารถรับแผ่นดินไหวให้ได้มั่นคงที่สุด ในเบื้องต้นกรมทรัพยากรธรณีได้ทำการสำรวจพื้นที่เสี่ยงพบรอยเลื่อนใหม่ๆ อยู่ 200 แห่ง พบรอยเลื่อนใหม่กว่าร้อยละ 90
นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนธรณีภัยพิบัติ กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ได้ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สร้างการรับรู้เกี่ยวกับรอยเลื่อนใหม่ “รอยเลื่อนเวียงแหง” เพื่อพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่สำคัญให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติไม่กังวลและแตกตื่น