ประเด็นน่าสนใจ
- ชี้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และส่งผลดีต่อการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ
- นอกจากช่วยค่าน้ำ-ไฟ ยังช่วยะค่าก๊าซหุงต้มต่ออีก 3 เดือนด้วย
- สิทธิดังกล่าวเฉพาะผู้ลงทะเบียนร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาเปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และสังคม
ได้มีมติเห็นชอบในการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นมาตรการเพิ่มเติมต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ประกอบด้วย
- 1.ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า เดือนละ 230 บาทต่อครัวเรือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.62- ก.ย.63 ระยะเวลา 11 เดือน
- 2.ช่วยเหลือค่าน้ำประปา เดือนละ 100 บาทต่อครัวเรือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.62- ก.ย.63 ระยะเวลา 11 เดือน
- 3.คืนภาษี VAT ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5% โดยรัฐจะเก็บภาษี VAT จากผู้มีรายได้น้อยเพียง 2% ตั้งแต่เดือน พ.ย.62-ก.ย. 63 ระยะเวลา 10 เดือน
สำหรับเป้าหมายความช่วยเหลือเพิ่มเติมผู้มีรายได้น้อยนี้ จะครอบคลุมประชาชนทั้งหมด 14.6 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีมาตรการของกระทรวงพลังงาน โดย ปตท. ที่จะลดภาระค่าก๊าซหุงต้ม ครัวเรือนละ 100 บาท จำนวน 100,000 ครัวเรือน โดยแบ่งเป็นในส่วนของผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 88,000 ครัวเรือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค.62 ระยะเวลา 3 เดือน
สาเหตุการยืดเวลาช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟ เพราะเป็นประโยชน์ และช่วยหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้มาตรการเพิ่มเติมดังกล่าว คณะกรรมการฯได้พิจารณาจากการประเมินผลการดำเนินการของโครงการช่วงที่ผ่านมา พบว่า เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และส่งผลดีต่อการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ จึงได้ดำเนินการต่อเนื่อง
“สวัสดิการประชารัฐ” เป็นโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่รัฐบาลจะต้องดูแลสวัสดิการที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อช่วยเหลือให้เขาสามารถเข้มแข็งขึ้นมาได้ และช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้สังคมตั้งแต่ระดับฐานราก
สำหรับผู้ที่เป็นกังวลว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้คนไทยอ่อนแอลง เนื่องจากพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐมากเกินไปนั้น ผมขอเรียนว่า รัฐมีมาตรการอีกด้านเดินควบคู่กัน คือ มาตรการสร้างอาชีพ ทักษะ และองค์ความรู้ เพื่อให้ผู้ได้รับความช่วยเหลือยืนได้ด้วยตัวเองในที่สุดด้วย
ทั้งนี้รัฐบาลต้องการที่จะช่วยเหลือหรือบรรเทาภาระค่าครองชีพ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสในการพัฒนาตัวเอง ให้เขาสามารถประกอบอาชีพ พร้อมกับจะมีการพิจารณาปรับเกณฑ์ในการลงทะเบียนครั้งใหม่ ให้เหมาะสมกับผู้ที่ควรจะได้รับสิทธิในโครงการนี้อย่างแท้จริงอย่างต่อเนื่อง