น้ำท่วม อยู่ได้! ถอดบทเรียนจาก อ.เวียงสา แก้ปัญหาหลังน้ำท่วม อย่างยั่งยืน

         อุทกภัย เป็นภัยพิบัติที่อยู่คู่ ประเทศไทย มาอย่างยาวนาน จากการค้นหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ พบว่า เหตุการณ์มหาอุทกภัยนั้นมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2485 นับจนถึงวันนี้เป็นเวลาถึง 77 ปีแล้ว ที่พวกเรายังไม่สามารถก้าวพ้นปัญหาเหล่านี้ได้ เมื่อภัยพิบัติเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกปีในพื้นที่เต็มๆ จึงก่อให้เกิดการเรียนรู้จากความสูญเสีย แม้กระทั่งปัจจุบันที่หลายพื้นที่ยังคงประสบภัยน้ำท่วมอยู่ เราขอพามาดูการถอดบทเรียน จนกลายเป็นแผนการเฝ้าระวังภัย และการรับมือเพื่อลดทอนความสูญเสียที่เคยเกิดขึ้น แก้ปัญหาหลังน้ำท่วม…

Home / NEWS / น้ำท่วม อยู่ได้! ถอดบทเรียนจาก อ.เวียงสา แก้ปัญหาหลังน้ำท่วม อย่างยั่งยืน

ประเด็นน่าสนใจ

  •   ถอดบทเรียนจาก อ.เวียงสา จ.น่าน  หนึ่งในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยซ้ำซากทุกปี
  • LDI ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายที่มีศักยภาพโดยใช้ กรอบ Sendal
  • ความสําเร็จที่เป็นรูปธรรมส่งผลให้ อ.เวียงสา เป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการภัยพิบัติ

         อุทกภัย เป็นภัยพิบัติที่อยู่คู่ ประเทศไทย มาอย่างยาวนาน จากการค้นหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ พบว่า เหตุการณ์มหาอุทกภัยนั้นมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2485 นับจนถึงวันนี้เป็นเวลาถึง 77 ปีแล้ว ที่พวกเรายังไม่สามารถก้าวพ้นปัญหาเหล่านี้ได้ เมื่อภัยพิบัติเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกปีในพื้นที่เต็มๆ จึงก่อให้เกิดการเรียนรู้จากความสูญเสีย แม้กระทั่งปัจจุบันที่หลายพื้นที่ยังคงประสบภัยน้ำท่วมอยู่ เราขอพามาดูการถอดบทเรียน จนกลายเป็นแผนการเฝ้าระวังภัย และการรับมือเพื่อลดทอนความสูญเสียที่เคยเกิดขึ้น แก้ปัญหาหลังน้ำท่วม อย่างยั่งยืน

เพราะทุกคน คือเจ้าของปัญหาร่วมกัน

            หนึ่งในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยซ้ำซากทุกปีคือ อําเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เมื่อชุมชนเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงจับมือกันสร้างเป็นเครือข่ายจัดการอุทกภัย ครอบคลุมพื้นที่  7 ตำบล แยกเป็น 8 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเครือข่ายชุมชนเหล่านี้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนเกิดเป็นแบบแผนการจัดการภัยพิบัติ ที่สามารถเห็นผล ได้อย่างเป็นรูปธรรม

            องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จึงมีหน้าที่คอยผลักดันให้ชุมชนกลายเป็นศูนย์กลาง และมีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหาพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบทุกปี โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น บันทึกความร่วมมือร่วมกัน และนำเหตุการณ์มหาอุทกภัย ในปี พ.ศ. 2554 มาเป็นต้นแบบ เพราะในปีนั้นชุมชนเหล่านี้ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก

            จนนํามาซึ่งเครือข่ายจัดการภัยพิบัติ และคณะทํางานด้านภัยพิบัติชุมชน โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งชาวบ้านจะเข้าใจว่าอุทกภัยที่เกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของหน่วยงานท้องถิ่นต้องเป็นผู้เข้ามาจัดการแก้ปัญหา แต่ตอนนี้เรามาแลกเปลี่ยน พูดคุยและทําให้ชาวบ้านรู้ว่าการรับมือภัยพิบัติไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง

            ‘ เพราะทุกคน คือเจ้าของปัญหาร่วมกัน ในเครือข่ายจึงมีการเตรียม ความพร้อม เตรียมคน เตรียมข้อมูลผู้ประสบภัย จํานวนครัวเรือนที่เสี่ยงภัย เครื่องมือที่ใช้ในการป้องกัน ทั้งเรือ เครื่องสูบน้ํา ชูชีพ เอาไว้เพื่อรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น’

Sendal โมเดลจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติระดับสากล

            โดย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Institute หรือ LDI) หน่วยงานที่เป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายที่มีศักยภาพ ได้ให้ความรู้ความเข้าใจสภาพการของพื้นที่ของชาวบ้าน โดยใช้ กรอบ Sendal ซึ่งเป็นโมเดลจัดการความเสียหายจากภัยพิบัติระดับสากล ทำให้ชาวบ้านเข้าใจเรื่องความเสี่ยงใหม่ และลดทอนความเสี่ยงเดิม เพิ่มศักยภาพการเตรียมตัวเผชิญเหตุ และการฟื้นฟูกลับคืนสภาพได้รวดเร็ว

            จนกลายเป็นแนวทางการทำงาน และยังเสริมศักยภาพให้เครือข่าย และชาวบ้านเข้าใจเรื่องแผนที่ภูมิอากาศของกรมอุตุฯ และสามารถคาดเดาปริมาณน้ำฝนทั้งในชุมชนและพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อนำมาประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ โดยชาวบ้านต้องไปสํารวจพื้นที่เสี่ยงในฤดูกาลที่ผ่านๆ มา ว่ามีพื้นที่ไหนถูกน้ำท่วมและส่งผลกระทบต่อชีวิตทรัพย์สิน เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ รวมถึงกลุ่มเสี่ยงเปราะบาง อาทิ กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และทารกแรกเกิด อาศัยอยู่บ้านหลังไหนบ้าง ซึ่งจะทําให้สามารถวางแผนล่วงหน้า และบริหารจัดการได้อย่างตรงจุด

การฟื้นฟูพื้นที่หลังเกิดภัยพิบัติ

            ในด้านการฟื้นฟูพื้นที่หลังเกิดภัยพิบัติ เครือข่ายอําเภอเวียงสา มีการซักซ้อมล่วงหน้า ทําให้การปฏิบัติงาน เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ยิ่งไปกว่านั้นคือ สภายในเครือข่าย ๗ ตําบล ๘ อปท. นี้ มีการจัดทําขั้นตอนการปฏิบัติงานแบบสั้นๆ และเข้าใจง่าย ซึ่งกลายเป็นคู่มือ ในการทํางานให้กับผู้เกี่ยวข้อง

            จากรูปธรรมความสําเร็จในการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนและท้องถิ่นอําเภอเวียงสา สํานักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ได้สนับสนุนให้นําเรื่องเข้าหารือกับ สํานักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นําไปสู่การผลักดันให้เกิดการขยายผลไปทั้งจังหวัดน่าน ถือเป็นพื้นที่ตัวอย่างและพื้นที่ต้นแบบในการจัดการภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน แม้ปัญหา น้ำท่วม จะเป็นภัยธรรมชาติ ที่ไม่อาจห้ามได้ แต่สิ่งสําคัญคือ เราจะเรียนรู้และอยู่กับธรรมชาติได้อย่างไร เหมือน น้ำท่วม อยู่ได้ ที่อําเภอเวียงสา จังหวัดน่าน

            สุดท้ายแล้ว! เราขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องทุกพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม…ขอให้ฝันร้ายหายไปในเร็ววัน