ประเด็นน่าสนใจ
- เริ่มแล้วเทศกาลถือศีลกินผัก ละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์
- ตามธรรมเนียมจีน เริ่มในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน
- สำหรับเมืองเมืองไทย อยู่ในช่วงเดือน 10 หรือเดือนกันยายน-ตุลาคม ปีนี้
เริ่มแล้วเทศกาลถือศีลกินผัก ละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ตามธรรมเนียมจีน เริ่มในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน สำหรับเมืองเมืองไทย อยู่ในช่วงเดือน 10 หรือเดือนกันยายน-ตุลาคม ปีนี้
โดยทีมข่าว MThai ไปดูร้านขายอาหารเจต่างๆในย่านตลาดน้อยและบนถนนเยาวราช ที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารการกินที่หลากหลายช่วงเทศกาลกินเจ และมีรสชาติอร่อยไม่แพ้กัน เพราะเป็นสูตรดั้งเดิมที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ทรงคุณค่าหลากหลายรูปแบบที่แทรกตัวอยู่ตามซอกซอยต่าง ๆ และมีร้านอาหารเจให้เลือกชิมกันมากมาย ที่สำคัญอร่อยและราคาไม่แพง ทั้งยังเป็นรสชาดเดิมๆ ซึ่งมีให้เลือกมากมาย เช่น เผือกทอด เต้าหู้ทอดเจ และอาหารจานเดียวสารพัดเมนู
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ และพบประเด็นที่น่าสนใจซึ่งสรุปได้ ดังนี้ ในปี 2562 สัดส่วนคนกินเจเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่ทานเจไม่ครบทั้ง 9 วันตลอดเทศกาล แต่ผลจากจำนวนผู้ทานเจที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าตลาดปีนี้เพิ่มขึ้น 2.4% เทียบปีก่อน เทศกาลกินเจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ที่สนใจบริโภคเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 20-39 ปี ซึ่งในปี 2562 นี้คาดว่าคนกรุงเทพฯ จะให้ความสนใจทานอาหารเจเช่นเดียวกับปีก่อนๆ โดยมีสัดส่วนถึง 66.7% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เทียบกับ 57.1% ของปีก่อน (ซึ่งคนทานเจที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เลือกกินบางมื้อบางวัน)
หากเทียบพฤติกรรมการทานเจของผู้บริโภคเจดั้งเดิมกับคนรุ่นใหม่ ถือว่ามีความแตกต่างกัน โดยกลุ่มลูกค้าดั้งเดิมที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ที่ทานอาหารเจตามบรรพบุรุษโดยเคร่งครัด (กลุ่มนี้จะทานเจตลอดทั้ง 9 วันหรือบางคนอาจทานเจก่อนเทศกาล 1 วันที่ถือเป็นการล้างท้อง รวมถึงการทานเจตามวาระสำคัญเช่น วันเกิดหรือวันพระ) ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการอาหารเจในการผลิตสินค้าออกมาตอบสนองความต้องการในจำนวนวันที่เพิ่มขึ้น
แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ การบริโภคอาหารเจก็ด้วยเหตุผลจากการอยากทดลองทาน รวมถึงการหาซื้ออาหารเจทานได้สะดวก ทำให้กลุ่มนี้ไม่ได้เคร่งครัดกับระยะเวลาการทานเจมากนัก ส่วนใหญ่ทานตามความสะดวกของตนเอง และทำให้น้ำหนักภาพรวมของการทานอาหารเจในช่วงเทศกาลโน้มเอียงไปในทิศทางเดียวกับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่
ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า พฤติกรรมการทานอาหารเจในปี 2562 ส่วนใหญ่จะรับประทานไม่ครบทั้ง 9 วันตลอดเทศกาล ในสัดส่วน 63.3% (แยกเป็นทานเจบางมื้อสัดส่วน 42.2% และทานเจทุกมื้อครบ 9 วัน 24.5%)
ขณะเดียวกัน จำนวนมื้อที่ทานส่วนใหญ่ก็ไม่ครบทั้ง 3 มื้อ ขึ้นอยู่กับโอกาสและความสะดวก โดยส่วนใหญ่จะทานเจ 1 มื้อต่อวันสัดส่วน 45.5% รองลงมาคือ 2 มื้อสัดส่วน 28.8% มีเพียง 17.1% ที่จะทานอาหารเจครบทั้ง 3 มื้อใน 1 วัน รวมถึงกลุ่มที่วางแผนทานโดยคำนึงถึงความสะดวกอีก 9.6% ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้จำนวนกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการร้านอาหารเจ อาจมีความแตกต่างกันในแต่ละวัน
โดยส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องวางแผนทางด้านวัตถุดิบ รวมถึงปริมาณอาหารที่ทำในแต่ละวันมากขึ้น จากผลการสำรวจพฤติกรรมการเข้าร่วมในเทศกาลกินเจระหว่างวันที่ 29 กันยายน-7 ตุลาคม 2562 แม้ว่า จำนวนวันและมื้อเฉลี่ยของการทานเจจะไม่สูงเทียบกับปีก่อน แต่จำนวนคนทานเจที่เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่สนใจทดลองทานอาหารเจ
อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ผู้ทานเจควบคุมค่าใช้จ่ายต่อมื้อ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า ตลอดช่วงเทศกาลกินเจในปี 2562 นี้ คนกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มเจประมาณ 4,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% เทียบกับปี 2561
อย่างไรก็ตามเทศกาลถือศีลกินผักบนถนนเยาวราชกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 กันยายน-7 ตุลาคม 2562 รวมทั้งหมด 10 วัน 10 คืน บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ไปตลอดจนถนนเยาวราช ภายใต้แนวคิด “บรมกษัตริย์ บริบูรณ์สวัสดิ์ ทั่วฟ้าธานี” เปิดโอกาสให้ประชาชนาร่วมสักการะและขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบ “ออล อะราวด์เยาวราช” และที่ขาดไม่ได้ คือการออกร้านจำหน่ายอาหารเจจากร้านอาหารชื่อดังมากกว่า 100 ร้าน เริ่มตั้งแต่เวลา 16.00-23.00 น.