ประเด็นน่าสนใจ
- การดำเนินการจะเป็นลักษณะตักเตือน หากพบฝ่าฝืนจะดำเนินตามกฎหมายทันที
- เน้นรถที่ดัดแปลงใช้งานผิดประเภท และรถตู้โดยสารสาธารณะ
- การคุมเข้มห้ามนั่งท้ายกระบะเคยเกิดขึ้นแล้ว แต่ถูกอนุโลมไปหลังเกิดกระแสวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. ได้ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้า มาตรการดูแลความปลอดภัย หลังเกิดเหตุรถกระบะพลิกคว่ำในพื้นที่ สภ.บางแก้ว จว.สมุทรปราการ จนทำให้นักศึกษาอาชีวะวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ เสียชีวิตรวมกว่า 10 คน จนสร้างความเศร้าสลดใจให้กับผู้ทราบข่าวดังกล่าว ว่า
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแสดงความเสียใจกับญาติและครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว อยากให้ยกเป็นอุทาหรณ์ ถึงผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะการโดยสารกระบะหลัง ที่ไม่มีที่นั่งและเข็มขัดนิรภัย มีความเสี่ยงสูงที่จะบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต หากเกิดอุบัติเหตุ
การดำเนินการจะว่ากล่าวตักเตือน ไปจนถึงดำเนินคดีหากพบว่าฝ่าฝืนคำสั่งห้าม
จากนี้ไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและผู้ขับขี่ให้ตระหนักถึงความปลอดภัยไม่ทำผิดกฎหมาย และจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ด้วยการเรียกตรวจเพื่อตักเตือน และหากพบการฝ่าฝืนอีกก็จะจับดำเนินคดีทันที โดยเฉพาะรถตู้สาธารณะที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงเพราะวิ่งเร็วเพื่อทำรอบ
ก่อนหน้านี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทย์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยในความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน จากอุบัติเหตุบนท้องถนนหลายครั้ง
มาตรการห้ามนั่งท้ายกระบะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ถูกอนุโลมให้นั่งได้ หลังถูกวิจารณ์เป็นอย่างมาก
จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อให้ผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัย มีคำสั่ง หน.คสช.ที่ 15/2560 เรื่อง มาตรการการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสาธารณะ ซึ่งในกรณี ห้ามนั่งท้ายรถกระบะ และห้ามนั่งแคปในรถยนต์ 2 ประตู ขณะนั้นมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก พร้อมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนและผ่อนผันชะลอการบังคับใช้กฎหมาย โดยเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้กับประชาชน ถึงอุบัติเหตุและอันตรายจากการโดยสารที่ไม่มีการนิรภัยมาโดยตลอด
ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมสร้างช่องทางในการรับรู้ให้กับประชาชนเล็งเห็นความสำคัญในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เคารพกฎจราจร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งตัวผู้ขับขี่และผู้ร่วมทางเพื่อสร้างความปลอดภัย
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งให้เหตุด่วนเหตุร้าย ได้ที่สายด่วน 191 หรือสอบถามข้อมูลเส้นทางการจราจร หรือสามารถแจ้งอุบัติเหตุ ขอความช่วยเหลือรถเสีย ได้ที่ สายด่วน บก.จร. หมายเลข 1197 และ สายด่วน ตำรวจทางหลวง หมายเลข 1193 ตลอด 24 ชั่วโมง