คดี ม.116 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรณิการ์ วานิช

อัยการนัดฟังคำสั่ง “ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ” คดี ม.116

ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ ได้เดินทางมารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน สน.พญาไท ตามที่พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนคดีพร้อมความเห็นสมควรฟ้องส่งให้พนักงานอัยการ

Home / NEWS / อัยการนัดฟังคำสั่ง “ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ” คดี ม.116

ประเด็นน่าสนใจ

  • ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ ได้เดินทางมารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน สน.พญาไท ตามที่พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนคดีพร้อมความเห็นสมควรฟ้องส่งให้พนักงานอัยการ
  • จากกรณีที่ อดีตพระพุทธอิสระ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อทั้ง 3 คน กระทำผิดกฎหมายมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา
  • นัดฟังคำสั่งคดีนี้อีกครั้งในวันที่ 13 กรกฎาคม 64 ในเวลา 10.00 น.

วันนี้ (11 พ.ค. 64) ที่ สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาพิเศษ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าพร้อมด้วยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และน.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ได้เดินทางมารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน สน.พญาไท ตามที่พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนคดีพร้อมความเห็นสมควรฟ้องส่งให้พนักงานอัยการ โดยคดีนี้นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ อดีตพระพุทธอิสระ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อทั้ง 3 คน กระทำผิดกฎหมายมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

ทั้งนี้นายปิยบุตร กล่าวว่า คดีนี้เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2563 อดีตพระพุทธอิสระ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษว่าพวกตนทั้งสามกระทำผิดมาตรา 116 วันนี้พนักงานสอบสวน สน.พญาไท มีความเห็นสั่งฟ้อง จะนำตัวพวกเราส่งให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป ซึ่งเมื่อ 5 พ.ย. 63 พวกเราได้เดินทางไป สน.พญาไท ตามหมายเรียก เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา วันดังกล่าวพนักงานสอบสวนได้นำบันทึกข้อกล่าวหา บันทึกการแจ้งความของนายสุวิทย์ และบันทึกข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนให้พวกเราอ่าน

จากการที่อ่านบันทึกข้อกล่าวหาทั้งหมด หากว่ากันตรงไปตรงมา มันไม่เข้าองค์ประกอบความผิดมาตรา 116 เลย ซึ่งตนจะสรุปให้ฟังว่า นายสุวิทย์ อ้างถึงกรณีนายธนาธร เคยอภิปรายเรื่องอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 พูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทย 14 ตุลาคม 6 ตุลาคม 2519 เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนก่อตั้งวารสารฟ้าเดียวกัน อภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่าง ๆ รวมทั้งงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถานบันพระมหากษัตริย์

และไปปรากฎตัวในที่ชุมนุม ในกรณีของตนไปเอางานวิชาการสมัยตนเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ตีพิมพ์ในวารสารฟ้าเดียวกัน และหนังสือราชมัลลงทัณฑ์บัลลังก์ปฏิรูป และเอาความเห็นกรณีเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไม่ให้เอาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมไปอยู่บนท้องถนน การชุมนุมจะได้คลี่คลายเบาบางลง โดยอ้างว่ากรณีนี้ทำให้เยาวชน นิสิต นักศึกษาออกมาชุมนุม ส่วนกรณีของ น.ส.พรรณิการ์ บอกว่า ไปปรากฎตัวในการชุมนุม และไลฟ์สด

ข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้นายสุวิทย์ กล่าวหาว่าพวกเรากระทำผิดตาม ป.วิอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น ซึ่งตนคิดว่าพนักงานสอบสวนจะใช้ดุลยพินิจตามที่ได้เล่าเรียนมา และจะสั่งงดความเห็น ตาม ป.วิอาญามาตรา 140 วรรค 3 เขียนเอาไว้ว่ากรณีความผิดที่มีโทษเกิน 3 ปี พนักงานสอบสวนอาจมีความเห็นแนบไปกับสำนวนให้อัยการว่า ว่าของดการสอบสวนได้ แต่ปรากฎว่าพนักงานสอบสวนไม่ทำ และสั่งฟ้องไปที่อัยการ

ปัญหาคือพนักงานสอบสวนเรียนนิติศาตร์มา หากตนเอาข้อเท็จจริงนี้ไปจำลองเหตุการณ์ออกเป็นข้อสอบ ในวิชากฎหมายอาญา ปี 2 วิชากฎหมาย ป.วิอาญา ปี 3 คณะนิติศาสตร์ แล้วเอาพนักงานสอบสวนย้อนไทม์แมชชีนไปนั่งทำข้อสอบ เขาจะตอบข้อสอบข้อสอบแน่นอนว่าไม่ผิดมาตรา 116 มันไม่เข้าองค์ประกอบความผิด การกระทำที่เกิดขึ้นไม่สัมพันธ์กับผล แต่พนักงานสอบสวนยังเดินหน้าสั่งห้องพวกเรา ทำตัวราวบุรุษไปรษณีย์ ที่นำไปรษณีย์จากนายสุวิทย์ มาส่งให้อัยการ พนักงานสอบสวนมีดุลยพินิจ มีความเห็นได้ พนักงานสอบสวนไม่ได้เป็นหุ่นยนต์ ที่ตั้งโปรแกรมอะไรไว้แล้วต้องทำตาม นายปิยบุตร กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงาน อัยการสูงสุด ชี้แจงว่า เนื่องจากพนักงานสอบสวนเพิ่งนำสำนวนคำร้องส่งมาให้พิจารณาในวันนี้ พนักงานอัยการจึงยังไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงสรุปได้ทันทีว่า สมควรมีความเห็นทางคดีนี้อย่างไร ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงเห็นควรนัดฟังคำสั่งคดีนี้อีกครั้งในวันที่ 13 กรกฎาคม 64 ในเวลา 10.00 น.


ภาพ : วิชาญ โพธิ