Fake News Center ข่าวปลอม

ผนึกกำลังตั้ง Fake News Center แก้ไขปัญหาข่าวปลอม

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ตนได้เป็นประธานในการประชุมหารือการแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Fake News) เป็นการเร่งรัดนโยบายด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางด้านดิจิทัล มุ่งเน้นเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้อง โดยจะตั้งหน่วยงานศูนย์กรองข่าวปลอม (Fake News Center) เน้นสื่อสารข่าวการเตือนภัยพิบัติ ข่าวลวงที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน…

Home / NEWS / ผนึกกำลังตั้ง Fake News Center แก้ไขปัญหาข่าวปลอม

ประเด็นน่าสนใจ

  • กระทรวงดิจิทัลฯ บูรณาการกว่า 15 พันธมิตร ผนึกกำลังตั้ง Fake News Center ศูนย์กรองข่าวปลอม แก้ไขปัญหาข่าวปลอม
  • เน้นสื่อสารข่าวการเตือนภัยพิบัติและข่าวลวงที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ตนได้เป็นประธานในการประชุมหารือการแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Fake News) เป็นการเร่งรัดนโยบายด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางด้านดิจิทัล มุ่งเน้นเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้อง โดยจะตั้งหน่วยงานศูนย์กรองข่าวปลอม (Fake News Center)

เน้นสื่อสารข่าวการเตือนภัยพิบัติ ข่าวลวงที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ การหลอกลวงให้ลงทุน การขายสินค้าอันตรายและผิดกฎหมาย จะมีการหามาตรการและแนวทางในการจัดการกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ร่วมกับหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสรรพากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กระทรวงกลาโหม กองทัพบก ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ และ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงข่าวสารได้รวดเร็วผ่านสื่อออนไลน์ช่องทางต่างๆ กระทรวงดิจิทัลฯ ตั้งใจบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะตั้งคณะกรรมการตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ภายใน 1 สัปดาห์ และศึกษาถึงแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ พรบ. กฎหมายต่างๆ ทึ่แต่ละหน่วยงานถืออยู่

เพื่อผลักดันให้เกิดศูนย์กรองข่าวปลอม (Fake News Center) อย่างเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือนหลังจากนี้ ผมเชื่อว่าศูนย์ฯนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เพราะปัจจุบันมีความเข้าใจผิดจากกระแสข่าวลวงเกิดขึ้นทุกวัน ส่งผลกระทบต่อประชาชนมาโดยตลอด

โดยจะมีการหามาตรการจัดการเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในด้านต่างๆ ได้แก่

1) พฤติกรรมที่รุนแรง และเกี่ยวกับอาชญากรรม ความรุนแรงและการยุยง บุคคลและองค์กรที่เป็นอันตราย การส่งเสริมหรือการเผยแพร่อาชญากรรม สินค้าควบคุม

2) ความปลอดภัย อาทิ การฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเอง ภาพโป๊เปลือยของเด็ก และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากผู้ใหญ่ การข่มเหงรังแก และการก่อกวน การละเมิดความเป็นส่วนตัว และสิทธิความเป็นส่วนตัวของรูปภาพ เรื่องล่อหลอกให้ถูกโจรกรรมทรัพย์สิน

3) เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม อาทิ คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง เนื้อหารุนแรงและโจ่งแจ้ง เนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท บุคคลอื่น ภาพโป๊เปลือยของผู้ใหญ่และกิจกรรมทางเพศ การชักชวนทางเพศ ความรุนแรงและการทำร้ายจิตใจ

4) การหลอกลวง และ Fake News อาทิ สแปม การบิดเบือนความจริง ข่าวปลอม การล่อหลอก Fake Account

5) ทรัพย์สินทางปัญญา

6) มาตรการป้องกันเพิ่มเติมสำหรับผู้เยาว์

7) ความสงบเรียบร้อยของสังคม อาทิ สถาบันหลักของประเทศ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวทิ้งท้ายว่า กระบวนการทำงานของ Fake News Center ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ตรวจสอบให้มีความถูกต้อง และบริหารจัดการข่าวปลอมให้ได้เร็วที่สุด มีทีมงานติดตามและคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ มีคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่มีแนวโน้มเป็นข่าวปลอม ทีมงานดำเนินขั้นตอนการตอบโต้ข่าวสารปลอม และเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้อง