ประเด็นน่าสนใจ
- จากการแชร์ข้อมูลระบุว่า เป็นกรณีการแพ้วัคซีนที่จังหวัดอุดรฯ
- ภายหลังการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ภาพที่แชร์กันนั้นเป็นภาพของหญิงสาวที่มีอาการแพ้ยา ที่ รพ.หนองม่วง จ.ลพบุรี ไม่ใช่ อุดร
- ส่วนข้อความที่แชร์มีการนำข้อความจากกรุ๊ปส่วนตัว ของบุคลากรรายหนึ่งที่เข้ารับวัคซีน และมีอาการชา มาตัดข้อความ-เพิ่มข้อความบางอย่างเข้าไป
- ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกำลังเตรียมตัวดำเนินคดีกับผู้ที่จัดทำ-เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.คอมฯ ม.14 แล้ว
จากกรณีที่มีการรายงานข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ โดยระบุว่า เป็นภาพหญิงสาวที่ได้เกิดผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน Sinovac จนทำให้เกิดผื่นแดงเต็มตัว และมีเลือดออกในสมอง ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการนำภาพจากหญิงสาวรายหนึ่งที่มีอาการแพ้ยา และมารักษาอาการดังกล่าวที่ โรงพยาบาลหนองม่วง จ.ลพบุรี ไม่ใช่ที่จังหวัดอุดรแต่อย่างใด
ที่มาของประเด็นนี้
เนื่องจากมีการแชร์ภาพของหญิงสาวรายหนึ่ง พร้อมกับมีข้อความระบุว่า เป็นการแชร์เรื่องราว เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้เข้ารับวัคซีน หลังจากฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ราว 3 นาทีมีอาการชา และในช่วง 72 ชั่วโมงยังไม่หายไป ตามด้วยมีอาการเลือดออกในสมอง ทำให้มีผู้ที่เห็นข้อความดังกล่าวและส่งต่อกันไปเป็นจำนวนมาก
ข้อเท็จจริง
เรื่องดังกล่าวเป็นการนำข้อมูล 2 ส่วนมาประกอบกันคือ ภาพของหญิงสาวที่มีอาการแพ้ยา ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ป่วยรายดังกล่าวซึ่งเป็นเจ้าของภาพ มีอาการแพ้เกิดขึ้น และได้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพบาบาลหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ไม่ใช่ผู้ป่วย หรือผู้ได้รับวัคซีนในจังหวัดอุดรธานีแต่อย่าง
ส่วนกรณีข้อข้อมูลที่ระบุว่า เป็นการได้รับวัคซีนที่จังหวัดอุดรฯ นั้น โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการนัดฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่ และบุคลากรทางการแพทย์ รวมกว่า 3,700 ราย โดยในข้อความที่ถูกนำไปแชร์นั้น มาจากข้อมูลของบุคลากรทางการแพทย์ ในรพ.ชุมชน ซึ่งเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 2
โดยภายหลังจากได้รับวัคซีนแล้วมีอาการชา ตามอวัยวะต่าง ๆ หลังจากที่ได้รับวัคซีนราว 3 นาที และผู้ที่มีอาการดังกล่าวก็ได้เข้าตรวจอาการต่าง ๆ รวมถึงการเอกซเรย์สมอง ไม่พบเลือดออกในสมองแต่อย่างใด ไม่มีอาการอัมพาต และในขณะนี้บุคลากรรายนี้ มีอาการปรกติแล้ว
ซึ่งในจังหวัดอุดรธานี หลังจากที่มีการให้วัคซีนกับผู้เข้ารับวัคซีนจำนวนกว่า 15,000 ราย พบว่า มีอาการไม่พึงประสงค์ไม่รุนแรง เช่น อาการปวด-ตึง บริเวณที่ได้รับวัคซีน เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่อาการชาที่เกิดขึ้นนั้น มีพบจำนวน 5 ราย ซึ่ง 4 ราย อาการดังกล่าวหายไปในระยะเวลา 24 ชั่วโมง และอีก 1 ราย อาการชาหายไปในเวลา 48 ชั่วโมง และไม่พบว่ามีอาการอัมพาต หรือ เลือดออกในสมองแต่อย่างใด
เจ้าตัวระบุ ปรึกษาทนายแล้ว
จากข้อความดังกล่าวที่มีการแชร์กันออกไปนั้น บุคลากรรายดังกล่าวได้ฝากข้อความผ่าน นายแพทย์ทวีรัชต์ ศรีกุลวงศ์ โดยระบุว่า
บุคลากรรายดังกล่าว ไม่ได้มีเจตนาเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวออกแก่สาธารณะ เนื่องจากข้อความดังกล่าวเป็นการแชร์ข้อมูลกันในกลุ่มส่วนตัวที่สนิทกัน แต่หลังจากนั้นมีการนำข้อมูลดังกล่าวส่งต่อกันออกมา และมีการตัดข้อความบางคำออกไป รวมถึงใส่บางข้อความเข้ามาแทน เช่น การระบุว่าวัคซีนยี่ห้อดังกล่าวมีปัญหา รวมทั้งภาพประกอบดังกล่าวที่มีการนำเสนอออกไป ก็ไม่ใช่ภาพของบุคลากรรายดังกล่าวอีกด้วย
ซึ่งจากกรณีที่เกิดขึ้น ได้มีการปรึกษาทนายเตรียมดำเนินคดีต่อไป
นอกจากนี้ บุคลากรรายดังกล่าวยังระบุด้วยว่า เป็นผู้ลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนด้วยตนเอง และเห็นประโยชน์จากการได้รับวัคซีนมากกว่า โดยหลังจากที่เข้ารับวัคซีนโดสแรก ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด จนกระทั่งมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีนในเข็มที่ 2 แต่อยากย้ำว่า การได้รับวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญ
และทางเจ้าตัวยังขอบคุณทางคุณหมอที่ดูแล และให้คำปรึกษาในกรณีที่เกิดขึ้น รวมถึงได้ขอโทษผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย
ตร. เตรียมดำเนินคดี พรบ.คอมฯ กับผู้จัดทำ
จากกรณีที่เกิดขึ้น ทางกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้เตรียมเก็บข้อมูลเพื่อที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่ได้นำข้อความ และภาพมาสร้างข่าวปลอม หรือบิดเบือน ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2560 มาตรา 14 ในฐานนำเข้าข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ซึ่งในความผิดดังกล่าวนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ