ดีเอสไอ

ดีเอสไอ ถกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งรัดติดตามคดี ‘ธัมมชโย’

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 2 สิงหาคม 2562 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประชุมหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมหารือ…

Home / NEWS / ดีเอสไอ ถกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งรัดติดตามคดี ‘ธัมมชโย’

ประเด็นน่าสนใจ

  • DSI เชิญประชุมส่วนราชการหารือแนวทางการดำเนินคดีที่มีผลกระทบต่อประชาชน ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
  • พร้อมเร่งรัดติดตามคดีการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และคดีธัมมชโย

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 2 สิงหาคม 2562 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประชุมหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมหารือ กรณี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เร่งรัดการสืบสวนสอบสวนคดีสำคัญที่อยู่ในความรับผิดชอบ

โดยเฉพาะเรื่องที่มีผลกระทบต่อประชาชนให้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์ รวมถึงคดีการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่มีการสอบสวนขยายผลไปถึงกระบวนการฟอกเงิน โดยต้องเร่งรัดการสอบสวนคดีที่ยังดำเนินการไม่เสร็จและติดตามผู้ที่ศาลออกหมายจับที่ยังหลบหนีอยู่เพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามขั้นตอนของกฎหมาย

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กล่าวว่า คดีพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กรณีดังกล่าวเกิดเมื่อปี 2556 มีกลุ่มสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ได้เข้าร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ สอบสวนดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตภายในสหกรณ์ฯ โดยกล่าวหา นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารสหกรณ์ฯ กับพวก ว่า กระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์และ/หรือฉ้อโกงประชาชน

ซึ่งคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2556 รับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษ โดยเป็นคดีพิเศษที่ 146/2556 คดีดังกล่าว มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 13,000 ล้านบาท ทางคดีพนักงานอัยการได้ให้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม และยื่นฟ้องนายศุภชัย ฯ กับพวก ในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา

เมื่อปี 2557 ในระหว่างที่สอบสวนคดีพิเศษที่ 146/2556 ได้มีกลุ่มผู้เสียหายที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ เข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญากับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ระหว่าง พ.ศ.2549 – 2556 มีการตบแต่งบัญชีงบการเงินให้เห็นว่าสหกรณ์ฯ มีผลประกอบการดีจนได้รับรางวัลว่าเป็นสหกรณ์ดีเด่น

จนทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อและนำเงินเข้าฝากกับสหกรณ์เป็นจำนวนมาก ภายหลังมีการนำเงินออกจากสหกรณ์ไปโดยทุจริตดังที่สอบสวนพบ จึงแยกสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 63/2557 ซึ่งการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานอัยการเห็นพ้องกันว่ามีพยานหลักฐานพอฟ้อง โดยพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลแล้ว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา

สืบเนื่องจากคดีดังกล่าว ในปี 2559 พนักงานอัยการผู้พิจารณาสำนวนได้มีหนังสือแนะนำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีอาญากับผู้ที่มีพฤติการณ์โอน รับโอน หรือได้มาซึ่งทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดมูลฐาน แล้วปกปิด ซุกซ่อน เปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สินในความผิดฐานฟอกเงินแยกต่างหากจากคดีอาญามูลฐานเรื่องฉ้อโกงประชาชน

โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีการสอบสวนดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงิน จำนวน 23 คดี ในกลุ่มนี้มีการสอบสวนเสร็จและส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการแล้ว จำนวน 12 คดี และมี 1 คดี ที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงได้ส่งสำนวนไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.แล้ว โดยยังมีคดีฟอกเงินที่อยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 10 คดี

นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังดำเนินคดีกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของสหกรณ์ฯ จำนวน 27 ล้านบาทเศษ เป็นคดีพิเศษที่ 64/2557 อีกคดีหนึ่ง โดยคดีนี้ศาลอาญาพิพากษาจำคุกนายศุภชัยฯ 13 ปี ขณะนี้นายศุภชัยฯ ถูกจำคุกตามคำพิพากษาดังกล่าว รวมมีคดีที่สอบสวนดำเนินคดีโดย กรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งหมด 27 คดี สอบสวนเสร็จ 17 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 10 คดี

สำหรับกรณีของวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโย และบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นคดีพิเศษที่ 27/2559 มูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 1,458 ล้านบาทเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2559 โดยศาลอาญาได้ออกหมายจับพระธัมมชโย หรือพระไชยบูลย์สุทธิผล อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งหลบหนีไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและอยู่ระหว่างการสืบสวนติดตามจับกุม

การประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในวันนี้ เป็นการหารือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการข่าวเพื่อรับทราบสถานการณ์และบูรณาการข้อมูล รวมถึงหารือในประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งแนวทางการยึด อายัด และจัดการของวัดพระธรรมกายตามคำสั่งของศาลแพ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีอาญาในเรื่องเดียวกัน

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประสานกับอัยการสูงสุด หากได้ทรัพย์คืนจะดำเนินการส่งคืนให้กับผู้เสียหายอย่างไรได้บ้าง ส่วนกระแสข่าวที่ว่า พระธัมมชโย หรือพระไชยบูลย์สุทธิผล อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ยังอยู่ในวัด จากการข่าว ยังไม่ยืนยันแน่นอน เนื่องจากยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจน

ทั้งนี้ได้มีการประสานงานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม. หากมีการหลบหนีออกนอกประเทศซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการรายงานว่า อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หลบหนีออกไปจากประเทศทางช่องทางธรรมชาติ และช่องทางปกติ

“กรณีเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่รอบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ตนได้สั่งการให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ เนื่องจากพื้นที่ของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นพื้นที่โล่ง พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มในช่วงเวลากลางคืนให้ตรวจสอบรถเข้า-ออก และรถจอดบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงตรวจสอบกล้องวงจรปิดของ ดีเอสไอ ด้วยทั้ง 3 ส่วน เพื่อนำมาประกอบคดีให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กล่าว

สำหรับประชาชนที่มีข้อมูลหรือเบาะแสในเรื่องดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขที่ 128 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 หรือโทร.1202 สายด่วน กรมสอบสวนคดีพิเศษ โทรฟรีทั่วประเทศ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะรักษาข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ