กสม. ข่าวสดวันนี้

เลขาธิการ กสม. ยัน ยังสามารถทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิประชาชนได้

วันที่ 3 ส.ค.62 นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ภายหลังการลาออกของนางเตือนใจ ดีเทศน์ และนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่…

Home / NEWS / เลขาธิการ กสม. ยัน ยังสามารถทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิประชาชนได้

ประเด็นน่าสนใจ

  • ปัจจุบันมีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ปฏิบัติหน้าที่เพียง 3 คน
  • เลขาธิการ กสม. ออกมายืนยัน ยังสามารถทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิประชาชนได้แม้มีกรรมการไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

วันที่ 3 ส.ค.62 นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ภายหลังการลาออกของนางเตือนใจ ดีเทศน์ และนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 31 กรกฎคม 2562 ว่า แม้ปัจจุบันจะเหลือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ปฏิบัติหน้าที่เพียง 3 คน

ซึ่งถือว่าน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด แต่สำนักงาน กสม. ยังสามารถดำเนินงานตามภารกิจหลักในการคุ้มครอง ส่งเสริม และเฝ้าระวังเพื่อเตรียมการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ประชาชนสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนมายังสำนักงาน กสม. เพื่อรอการพิจารณาของ กสม. ได้เช่นเดิม

นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ขณะเดียวกันเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ พนักงานเจ้าหน้าที่ยังสามารถดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน สรุปข้อมูลประกอบคำร้องและจัดทำร่างรายงานได้ทุกกรณี ทั้งนี้ เมื่อมีการแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่เป็นกรรมการเป็นการชั่วคราวหรือคณะกรรมการชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ เรื่องร้องเรียนทุกกรณีซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบและเตรียมข้อมูลหรือร่างรายงาน จะได้รับการพิจารณาวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และ กสม. จะได้ออกข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปในทันที

นายโสพล กล่าวต่อไปถึงกระบวนการสรรหา กสม. ชุดใหม่ ว่า ตามบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 60 วรรคสาม บัญญัติว่าในกรณีมีผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้นำความในมาตรา 22 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

โดยมาตรา 22 กำหนดให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำหน้าที่เป็นกรรมการเป็นการชั่วคราวให้ครบ 7 คน โดยให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ได้จนกว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ตนทำหน้าที่แทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน นั้น อาจมีข้อติดขัดบางประการ

ทั้งนี้การแต่งตั้งผู้มาปฏิบัติหน้าที่แทน กสม. ที่ขาดไปเป็นการชั่วคราวโดยประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด มิได้ระบุกรอบระยะเวลาในการแต่งตั้งให้แล้วเสร็จ ซึ่งหากยังไม่มีการแต่งตั้งในช่วงระยะเวลาอันใกล้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า กสม. ชุดใหม่ จะได้มาจากกระบวนการสรรหาตามปกติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการสรรหา จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ก่อนนำรายชื่อเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง กสม. ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการได้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนนี้

“ในระหว่างที่รอการแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ กสม. ชั่วคราว หรือ การสรรหา กสม. ชุดใหม่นั้น ขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนจะยังคงทุ่มเทปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน กสม. อย่างเต็มกำลังและสุดความสามารถ โดยภารกิจทุกอย่างยังคงดำเนินต่อไปภายใต้ขอบเขตที่กระทำได้เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สุขของประชาชน” นายโสพล กล่าว