กรมศิลปากร สหรัฐอเมริกา โบราณวัตถุ

กรมศิลปากร รับมอบโบราณวัตถุ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากสหรัฐฯ

วันนี้ (17 ม.ค. 62) ที่ ห้องดอกไม้สด สำนักหอสมุดแห่งชาติ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีส่งมอบและรับมอบโบราณวัตถุจาก สหรัฐอเมริกา จำนวน 46 รายการ…

Home / NEWS / กรมศิลปากร รับมอบโบราณวัตถุ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากสหรัฐฯ

วันนี้ (17 ม.ค. 62) ที่ ห้องดอกไม้สด สำนักหอสมุดแห่งชาติ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีส่งมอบและรับมอบโบราณวัตถุจาก สหรัฐอเมริกา จำนวน 46 รายการ โดยมี นางรุยาภรณ์ สุคนธทรัพย์ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ส่งมอบ และนายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้รับมอบโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ จำนวน 46 รายการ ที่ได้รับคืนครั้งนี้ เกิดจากการดำเนินการร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสองหน่วยงานหลักของไทย ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร และกระทรวงการต่างประเทศ

โดยกรมสารนิเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก โดยเฉพาะสัมพันธภาพที่ดียิ่งตลอดมาของราชอาณาจักรไทย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับเป็นครั้งที่ ๒ ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย หลังจากมีการส่งมอบโบราณวัตถุครั้งแรก จำนวน 12 ราายการ จากสหรัฐอเมริกากลับคืนสู่มาตุภูมิไปเมื่อเดือนตุลาคม 2561

ทั้งนี้ โบราณวัตถุ จำนวน 46 รายการ มาถึงกระทรวงการต่างประเทศเมื่อเดือนธันวาคม 2561โดยเป็นโบราณวัตถุจากชาวอเมริกัน 19 รายการ และชาวไทยในสหรัฐอเมริกา 27 รายการ ส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุวัฒนธรรมบ้านเชียง เช่น ภาชนะดินเผา ทั้งภาชนะลายเชือกทาบประดับด้วยเส้นนูน สมัยต้น อายุประมาณ 3,000 – 4,000 ปีมาแล้ว และภาชนะลายเขียนสีแดง สมัยปลาย อายุประมาณ 1,800 – 2,300 ปีมาแล้ว เครื่องใช้ดินเผาประเภทช้อน ลูกกลิ้งสำหรับทำให้เกิดลาย และเบ้าหลอมโลหะ

รวมทั้งเครื่องประดับสำริดประเภทกำไล สมัยปลาย อายุประมาณ1,800 – 2,300 ส่วนโบราณวัตถุที่เหลือเป็นภาชนะดินเผาทั้งแบบมีลายและไม่มีลาย ซึ่งพบได้ทั่วไปตามภาคต่างๆ ของประเทศไทย ที่น่าสนใจ คือ หินดุทำด้วยดินเผา ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการขึ้นรูปภาชนะดินเผา หลังจากนี้กรมศิลปากรจะดำเนินการจัดทำทะเบียนบัญชีเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน โบราณวัตถุที่เสียหายหรือเสื่อมสภาพ จะได้รับการซ่อมสงวนรักษาตามหลักการอนุรักษ์และเก็บรักษาไว้ที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และจะนำออกมาจัดแสดงเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป