ประชาชนในชนบท มีความใกล้ชิดกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ค่อนข้างมาก นอกจากจะเดินทางใกล้แล้ว ยังรู้สึกถึงความเป็นมิตรเมื่อมีปัญหาสุขภาพทั้งเรื่องสุขภาพเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ต่อเมื่อเกินรับมือของ รพสต.แล้ว จึงจะย้ายไปรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ที่มีเครื่องมือและบุคลากรที่พร้อมกว่า ซึ่งมักมองว่าการไปโรงพยาบาลใหญ่หมายถึงต้องมีเหตุร้ายแรง ทำให้เกิดความกังวล
การนำอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยในระบบของรพสต. ภายใต้แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมฉบับที่ 2 ในมิติเชิงสังคมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบโทรคมนาคมเพื่อสังคม และประโยชน์สาธารณะซึ่งรวมถึงบริการทางด้านการแพทย์ในพื้นที่ USO ซึ่งจะเป็นการประยุกต์ใช้งานบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่ชนบท ช่วยให้ระบบการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้าข้อมูลทางการแพทย์ การจัดการกับระบบข้อมูลออนไลน์ที่บุคลากรทางการแพทย์ สามารถเรียกดูข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างสะดวก สามารถวินิจฉัยจ่ายยาหรือให้คำแนะนำตามข้อมูลประวัติการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว ข้อมูลชัดเจนไม่ตกหล่น ช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างแพทย์ในการสื่อสารทางไกล ในกรณีที่ต้องอาศัยแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางสามารถให้การรักษาผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ประชุมสายระหว่างแพทย์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลช่วยให้บุคคลากรทางการแพทย์ในรพสต. สามารถรับมือกับเคสที่ใหญ่ขึ้นได้ ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งตัวผู้ป่วยในกรณีที่ต้องส่งตัวไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลอื่น รวมไปถึงการจัดการด้านอื่นๆ เช่น ระบบจ่ายยา เป็นต้น
ใช้สื่อสารระหว่างคนไข้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการรับข่าวสารด้านสุขภาพ และอีกทั้งคนไข้สามารถรับคำปรึกษาออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาในการเดินทางของคนไข้ ทำให้คนไข้ได้เข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วขึ้น เป็นการยกระดับคุณภาพการรักษาให้ประชาชนในพื้นที่ชนบท
ดังนั้น การนำระบบอินเทอร์เน็ตมาใช้ใน รพสต. นอกจากประชาชนจะได้รับการบริการสาธารณสุขที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ลดความแออัดของคนไข้ในโรงพยาบาล และลดภาระของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมือง ได้อีกด้วย