ประเด็นน่าสนใจ
- อิทธิพลของพายุวิภา ได้ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ รวม 530 ล้านลบ.ม. อีกทั้งยังช่วยแก้ภัยแล้ง พืชผลการเกษตรงอกเงย
- แม้ว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่น และเคลื่อนเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังส่งผลกระทบต่อหลายจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเลย
สถานการณ์พายุโซนร้อน “วิภา” แม้ว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่น และเคลื่อนเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังส่งผลกระทบต่อหลายจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเลย ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประเทศเตือนชาวบ้านให้เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก และ ดินโคลนถล่ม หากเกิดฝนตกติดต่อกันหลายชั่วโมง
โดยสภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดเลย เกิดฝนตกหนักทั้งคืน ท้องฟ้ามืดครึ้มถูกปกคลุมด้วยเมฆ ซึ่งเป็นอิทธิพลจากดีเปรสชั่น “วิภา “ที่เคลื่อนเข้าสู่จังหวัดเชียงขวาง ประเทศลาว ทำให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเลย เตือนประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่เสี่ยงภัยใกล้ภูเขาให้เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก และ ดินโคลนถล่มหากเกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง พร้อมขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
เช่นเดียวกับจังหวัดหนองคาย มีฝนตกโปรยปรายทั่วบริเวณ แต่เนื่องจากระดับน้ำโขงต่ำกว่าตลิ่งกว่า 8 เมตร จึงไม่จำเป็นต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบายลงแม่น้ำโขง แต่ได้จัดเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังและเตรียมรับมือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนธาตุน้อยที่กั้นแม่น้ำชี อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี และ เขื่อนอำนาจเจริญ ซึ่งกั้นลำน้ำเซบายตอนล่าง อำเภอเมืองอุบลราชธานี มีน้ำปริมาณเพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกต่อเนื่องในพื้นที่ และ พื้นที่การเกษตรบางส่วนก็ได้น้ำฝนไปหล่อลี้ยงต้นข้าว หลังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงมายาวนาน
ด้านอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าอิทธิพลของพายุวิภา ได้ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ กว่า 189 ล้านลบ.ม. (3ส.ค.) และ 155 ล้านลบ.ม. (2 ส.ค.) 129 ล้านลบ.ม.(1ส.ค.) 56 ล้านลบ.ม.(31ก.ค.) รวม 530 ล้านลบ.ม. อีกทั้งยังช่วยแก้ภัยแล้ง พืชผลการเกษตรงอกเงย
ส่วนสถานการณ์ ไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็ง อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ล่าสุดเจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี นำอุปกรณ์ดับเพลิงควบคุมระยะไกล ฉีดละอองน้ำเพื่อสลายหมอกควัน ที่คลุ้งกระจายเข้ามาในพื้นที่ชุมชนทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบทางด้านระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะเด็กและคนชรา
ขณะที่กรมชลประทานได้ระดมนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่กระจายไปทั่วป่าพรุเร่งสูบน้ำเข้าพื้นที่ป่าไปตามคลองสาขาต่างๆเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำบนผิวดิน และเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าที่เดินเท้าเข้าสู่พื้นที่ภายในที่ไฟกำลังลุกไหม้สามารถใช้นำได้อย่างเต็มที่
ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารกองทัพภาคที่ 4 หน่วยป้องกันไฟป่า จากทั่วประเทศ ตลอดจนอาสาสมัคร ต่างช่วยกันฉีดน้ำและสร้างแนวป้องกันไฟที่กำลังลุกไหม้ให้อยู่ในวงจำกัด ไม่ให้ลุกลามเข้าสู่บ้านเรือนประชาชน