30 บาทรักษาทุกโรค สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

หมอเลี๊ยบ โพสต์ดีใจ อนุทิน สานต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

วันนี้ (7 ส.ค. 2562) นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว @สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี บอกเล่าเรื่องราว หลังจากได้รับการติดต่อจากนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุข…

Home / NEWS / หมอเลี๊ยบ โพสต์ดีใจ อนุทิน สานต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ประเด็นน่าสนใจ

  • นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ยินดีร่วมมือรัฐบาล สานต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค
  • การช่วยเหลือให้ข้อมูลนโยบายจะทำในฐานะประชาชน

วันนี้ (7 ส.ค. 2562) นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว @สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี บอกเล่าเรื่องราว หลังจากได้รับการติดต่อจากนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุข เพื่อขอพูดคุยหารือในประเด็นการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสานต่อนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค

โดยอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข ในยุครัฐบาลทักษิณ ได้เผยว่า เขารู้สึกดีใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาะารสุขคนปัจจุบันให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และมีการนัดหมายจริงจังในการหารือมากกว่ารัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมา โดยมีใจความว่า

“30 บาทรักษาทุกโรค” ควรก้าวต่อไปอย่างไร (ตอนที่ 1) :
………………………………………………
.
ทำไมผมจึงไปนำเสนอข้อมูลเรื่อง “30 บาท” ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
.
………………………………………………

ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ข่าวคราวเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นข่าวที่มี “อารมณ์ข่าว” แตกต่างไปจากหลายครั้งที่ผ่านมา

4-5 ปีก่อนหน้านี้ เราได้รับฟังแต่ปัญหาของนโยบาย 30 บาท ในเรื่องงบประมาณไม่พอบ้าง ต้องให้มีการร่วมจ่ายเมื่อเจ็บป่วยบ้าง (ซึ่งไม่มีการลงรายละเอียดว่า จะให้ร่วมจ่ายอย่างไร เท่าไร) ผู้ป่วยมารักษาพยาบาลจนแออัดทั้งตึกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในบ้าง ความขัดแย้งระหว่างแพทย์ พยาบาลกับผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินบ้าง

สารพัดปัญหาเหล่านั้น ทำให้เกิดการโยนหินถามทางว่า ควรยกเลิกระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ใช้อยู่หรือไม่ แต่คนที่โยนหินก็กล้าๆ กลัวๆ สองจิตสองใจ ไม่มั่นใจว่าควรทำอย่างไรต่อไป

ผมรับฟัง “ข่าวร้าย” ด้วยความรู้สึกหดหู่และหงุดหงิด แต่ก็บอกกับตนเองว่า “ปล่อยวางเถอะ เราได้ทำสิ่งที่เราควรทำแล้ว เดี๋ยวนี้และต่อจากนี้ ปล่อยให้เป็นบทบาทหน้าที่ของผู้รับผิดชอบ ให้เขาทำต่อไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนเถิด ใครทำอะไรก็ย่อมได้รับผลของการกระทำนั้น”

………………………………

หลังพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเดือนตุลาคม 2545 ผมไม่ได้กลับไปที่กระทรวงสาธารณสุขอีกเลย ส่วนที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผมมีโอกาสไปร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 2 ครั้งในช่วงเวลา 16 ปี

ผมติดตามและเอาใจช่วยการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเริ่มต้นอย่างมีชีวิตชีวาในยุคของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ต่อเนื่องมาถึงยุคของนายแพทย์วินัย สวัสดิวร แต่ผมเริ่มรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับปัญหาที่เริ่มผุดโผล่ขึ้นมาในช่วงหลัง ซึ่งบั่นทอนความเข้มแข็งของระบบ

สื่อมวลชนหลายแขนงทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และเว็บไซต์ มาขอความเห็นผมเมื่อใด ผมก็แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยและระมัดระวัง ไม่ข้ามเส้น ไม่ทำให้ใครคาดการณ์ไปได้ว่า ผมจะหวนกลับมาผลักดัน 30 บาทอีกครั้ง

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบางท่าน เอ่ยปากเมื่อมีโอกาสพบกันว่า อยากให้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผมรับปากด้วยความยินดี แต่เมื่อท่านไม่นัดหมาย ผมก็ไม่ขวนขวายขอเข้าพบแต่อย่างใด

………………………………….

วันนี้ ผมเป็นประชาชนที่อยู่ในวรรณะ “จัณฑาลทางการเมือง” มีเพียงสิทธิในการไปลงคะแนนเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต แต่ผมก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ แต่กลับสบายใจที่ไม่ต้องหาเหตุผลมาตอบมิตรสหายที่แวะเวียนมาสม่ำเสมอเพื่อชักชวนเข้าสู่การเมืองอีกครั้ง

ผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร
ผมไปโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559
ผมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
ผมสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานการเมืองกันให้มากๆ
ผมไปลงคะแนนในวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ด้วยการเลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ตามแนวทาง “เลือกอย่างมียุทธศาสตร์” และผมไม่เห็นด้วยการสืบทอดอำนาจ

แต่ผมก็ไม่ยอมเห็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพังทลายลงต่อหน้าต่อตา โดยนิ่งดูดาย ไม่ทำอะไร

ดังนั้นเมื่อทีมงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล ติดต่อมาว่า รัฐมนตรีอยากแลกเปลี่ยนความคิดเรื่อง 30 บาท ผมจึงตอบรับ (แต่ก็แอบคิดไม่ได้ว่า คงไม่ตั้งใจนัดหมายจริงจังเหมือนรัฐมนตรีท่านก่อนๆ นั่นแหละ)

ในวันแรกที่พบกัน ผมเล่าความคิดเห็นของผมอย่างคร่าวๆ คุณอนุทินตั้งใจฟังและจดประเด็นสำคัญๆ ในสมุดบันทึกไปด้วย ผมเอ่ยปากชัดเจนในวันนั้นว่า ผมพร้อมให้ความเห็นทั้งในที่ประชุมย่อย ที่ประชุมใหญ่ และในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผมพูดกี่ครั้งก็จะพูดเหมือนเดิม เพราะหลักการที่ถูกต้องของระบบ 30 บาทไม่เคยเปลี่ยนแปลง

แต่เงื่อนไขสำคัญที่ผมแจ้งคุณอนุทินไปคือ

“ผมไม่ใช่ทีมงานของท่าน ผมไม่รับตำแหน่งใดๆ ไม่รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานใดๆ ไม่รับเบี้ยประชุม ไม่รับค่าเดินทางหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น”

“ผมมาในฐานะประชาชนชื่อ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่อยากเห็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พัฒนาไปอย่างยั่งยืน เป็นกำแพงพิงหลังให้ผู้ทนทุกข์ ไม่มีใครต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย และเป็นแบบอย่างที่งดงามให้กับองค์การอนามัยโลกและนานาประเทศ”

หลังจากนั้น ทีมงานรัฐมนตรีติดต่อประสานงานกับผมอีกหลายครั้ง จนผมรู้สึกได้ว่า “คราวนี้ รัฐมนตรีฯ ท่าจะเอาจริงแฮะ” และนำไปสู่การนัดหมายครั้งที่ 2 เพื่อให้ผมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

วันที่ 2 สิงหาคม 2562 ผมจึงขับรถเข้าไปในกระทรวงสาธารณสุข ด้วยความตื่นเต้น เพราะเป็นการเข้าไปในกระทรวงสาธารณสุขครั้งแรกในรอบ 16 ปี
.
(ยังมีต่อ)