ป.ป.ช. เผยเหตุผลทำไมถึงตีตกกรณีนาฬิกาหรู ‘บิ๊กป้อม’ ชี้บริษัทผู้ผลิตนาฬิกาหรู 3 แห่ง ไม่ให้ข้อมูล ระบุกรณีนี้ไม่ใช่คดีอาญาเกี่ยวกับการทุจริต
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดกิจกรรมพบสื่อ ช่วงหนึ่งสื่อหลายสำนักสอบถามกรณี กรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 5 ต่อ 3 เสียง ตีตก คดีนาฬิกาหรู 22 เรือน ที่มีการกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ชี้แจงขั้นตอนการหาข้อมูลนาฬิกาหรู สรุปใจความคือการตรวจสอบข้อมูลเป็นไปด้วยความยากลำบากทั้งในและต่างประเทศ
โดย ป.ป.ช. ต้องใช้ระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบทรัพย์สินขอข้อมูลผ่านทางสถานทูต 4 ประเทศ แต่บริษัทผู้ผลิตนาฬิกาหรู 3 แห่งตอบกลับมาตรง ๆ ไม่ให้ข้อมูล ส่วนที่เหลืออีก 1 แห่งขอให้ ป.ป.ช. ใช้วิธีตามช่องทางพ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาฯ ซึ่งต้องดำเนินการผ่านอัยการสูงสุด (อสส.) แต่เรื่องนาฬิกาหรูไม่ใช่คดีอาญาเกี่ยวกับการทุจริต จึงไม่สามารถใช้ช่องทางนี้ได้
เมื่อบริษัทผู้ผลิต 4 แห่ง ตอบกลับมาแบบนี้ ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมาวินิจฉัยอีกครั้งว่า เรื่องนาฬิกาหรู สามารถใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความอาญาฯ ได้หรือไม่ ทำให้กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ไม่สามารถทำได้ แต่หากต้องการใช้ช่องทาง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความอาญาฯ จริง ต้องใช้เวลาเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หรือ 1 ปี และคำตอบคงออกมาแบบเดิมคือกรณีนี้ไม่ใช่คดีอาญาเกี่ยวกับการทุจริต ท้ายที่สุดเสียงข้างมากจึงวินิจฉัยตามพยานหลักฐานที่มีอยู่
ข้อมูลจาก จส.100