ทะเลโซมาเลีย ทิ้งลูกเรือ ลูกเรือประมง

ลูกเรือไทย 18 คนถูกทิ้งกลางทะเลโซมาเลีย กลับถึงไทยแล้ว

วันนี้ (12 สิงหาคม 2562) เวลา 06.30 น. พลเรือโท พงษ์ศักดิ์ จุลกาญจน์ หัวหน้าสำนักงานผู้บังคับบัญชา ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พร้อมด้วยพลเรือตรี โสภณ รัชตาภิรักษ์…

Home / NEWS / ลูกเรือไทย 18 คนถูกทิ้งกลางทะเลโซมาเลีย กลับถึงไทยแล้ว

ประเด็นน่าสนใจ

  • ผู้แทนจาก ศรชล. ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ ให้การต้อนรับลูกเรือประมงไทย 18 คน ที่ถูกนายจ้างไทยทอดทิ้งในทะเลโซมาเลีย
  • เบื้องต้นลูกเรือประมงไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศจำนวน 4 คน จะได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบกองทุนฯ

วันนี้ (12 สิงหาคม 2562) เวลา 06.30 น. พลเรือโท พงษ์ศักดิ์ จุลกาญจน์ หัวหน้าสำนักงานผู้บังคับบัญชา ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พร้อมด้วยพลเรือตรี โสภณ รัชตาภิรักษ์ รองหัวหน้าสำนักงานฯ ผู้แทนจากกรมประมง และผู้แทนจากกรมเจ้าท่า เป็นผู้แทนจาก ศรชล. ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ ให้การต้อนรับลูกเรือประมงไทย 18 คน ที่ถูกนายจ้างไทยทอดทิ้งในทะเลโซมาเลียกลับสู่ประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ในการเดินทางกลับของลูกเรือประมงไทย 18 คน ครั้งนี้ ถือเป็นผลจากการร่วมบูรณาการให้ความช่วยเหลือจาก หน่วยงานใน ศรชล. ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมประมง และกรมเจ้าท่า ตลอดจนกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ โดยหลังจากคณะลูกเรือประมงเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเรียบร้อยแล้ว ได้รับการต้อนรับจากคณะของหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ

ทางเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงานจะพาลูกเรือทั้งหมด 18 คน เดินทางไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่จากกรมการจัดหางาน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมีเจ้าหน้าที่ของ ศรชล.ประกอบด้วยกองทัพเรือ กรมประมง และกรมเจ้าท่า ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงจากลูกเรือประมงไทย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานต่อไป ณ ห้องประชุมชั้น 10 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

พร้อมกันนี้ลูกเรือประมงทั้งหมดจะเข้าพบหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อแสดงความขอบคุณที่ให้ความช่วยเหลือให้ได้เดินทางกลับมาประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ หลังจากนั้นกรมการจัดหางานจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดรถรับ – ส่ง ไปยังสถานีขนส่งผู้โดยสาน(หมอชิต) เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาต่อไป

สำหรับการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นลูกเรือประมงไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศจำนวน 4 คน จะได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบกองทุนฯ เป็นค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นเท่าที่จ่ายได้ไม่เกินคนละ 30,000 บาท กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ให้การช่วยเหลือค่าพาหนะ ค่าอาหาร ให้แก่ประมงไทยทั้งหมดในการเดินทางกลับภูมิลำเนากรมแรงงานอำนวยความสะดวกจัดรถรับ – ส่ง จัดหาที่พักให้แก่แรงงานไทยก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนา

อีกทั้งกระทรวงแรงงานจะติดตามสิทธิประโยชน์ให้แก่ประมงไทยหลังจากเดินทางกลับภูมิลำเนาแล้ว เช่น ค่าจ้างค้างจ่าย เงินสมาชิกกองทุนฯ จากนั้นจะให้สำนักงานจัดหางานจังหวัด ลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียน และสอบถามความต้องการทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจะดำเนินการทางคดีกับนายหน้า หากมีการฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติจัดหางาน และคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537

ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมานั้นหลังจากทราบข่าวจากสื่อออนไลน์ ในการขอความช่วยเหลือจากนาย เรวัตร ป้องขาว ลูกเรือประมงไทย ซึ่งทำงานอยู่บนเรือประมงชื่อ WADANI 1 ผ่านทาง Facebook โดยในเบื้องต้นทราบว่าเรือลอยลำอยู่บริเวณทะเลในประเทศโซมาเลีย การนี้เมื่อศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. ได้ทราบเหตุจึงดำเนินการประสานกับกองทัพเรือ โดยศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ

ซึ่งได้มอบหมายให้นายทหารประสานงานของกองทัพเรือประจำกองเรือเฉพาะกิจผสม CTF151 มีที่ตั้งอยู่ ณ ราชอาณาจักรบาห์เรน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมประสานให้เรือ และอากาศ ในกองเรือเฉพาะกิจผสม CTF151 ทำการตระเวนบริเวณทะเลในประเทศโซมาเลีย แต่ไม่พบ จึงนายทหารประสานงานฯ ได้ร้องขอกองกำลังทางเรือสหภาพยุโรป(EUNAVFOR) ใช้เครื่องมือดักรับสัญญาณช่วยเหลือทางทะเล หรือสัญญาณวิทยุขอความช่วยเหลือ จนในที่สุดทราบว่าเรือประมง WADANI 1 จอดเทียบท่าเรือของโซมาเลีย จากนั้นเจ้าหน้าที่ของ ศรชล. ได้สนทนากับลูกเรือ WADANI 1 โดยมีความประสงค์ที่ขอกลับประเทศไทยทั้งหมด

จากนั้นศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล.ได้ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 นั้น อันได้แก่กรมเจ้าท่าทำการตรวจสอบทะเบียนเรือประมง WADANI 1 และเรือประมง WADANI 2 ซึ่งที่ปรากฏเรือทั้ง 2 ลำได้เพิกถอนทะเบียนเรือไทย โดยเจ้าของเรือได้ขายเรือดังกล่าวให้กับเจ้าของเรือชาวอิหร่านตั้งแต่ปีพ.ศ.2558 และกรมเจ้าท่าได้เพิกถอนทะเบียนเรือไทยเรียบร้อยแล้ว

ในส่วนของกรมประมงได้ตรวจสอบฐานข้อมูลเรือประมงแล้ว ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือประมงนอกน่านน้ำไทย ดังนั้นโดยสถานะทางกฎหมายเรือดังกล่าวไม่ใช่เรือไทย และต่อมาได้ประสานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ให้ประสานให้การช่วยเหลือลูกเรือประมงดังกล่าว ซึ่งนายเชิดเกียรติ อัตถากร เอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมง โดยได้รับแจ้งว่าบริษัทเจ้าของเรือได้ส่งอาหารให้เพิ่มเติม และกระทรวงการต่างประเทศได้ติดตามให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยทั้ง 18 คน

โดยอาศัยช่องทางทางการทูต และเครือข่ายองค์การเพื่อการย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ (IOM : International Organization for Migration) โดยทาง สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้อำนวยความสะดวกในเดินทางออกจากสนามบิน เมือง Bosaso รัฐ Puntland ของโซมาเลีย โดยลูกเรือไทยเดินทางถึงสนามบินเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมี กงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ อำนวยความสะดวกในการจัดให้ลูกเรือประมงไทยเข้าพักที่โรงแรม เพื่อเดินทางกลับไทย โดยเดินทางกลับประเทศไทยด้วยสายการบินไทย เที่ยวบิน TG 518

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเมื่อคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศได้รับความเดือดร้อน ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เป็นลูกเรือประมงไทยในน่านน้ำต่างประเทศดังนั้น ศรชล. จึงได้ดำเนินการโดยอาศัยกลไกตามพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 ดำเนินการบูรณาการ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จนสามารถให้ความช่วยเหลือให้ลูกเรือประมงไทยได้กลับมาถึงประเทศไทย และกลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ