ประเด็นน่าสนใจ
- จีนส่งโมดูลหลักของสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) หรือวังสวรรค์ ขึ้นสู่อวกาศ
- เปิดฉากภารกิจขนส่งยานอวกาศครั้งสำคัญของประเทศ
- เป้าหมายเพื่อสร้างสถานีอวกาศนี้ให้เสร็จภายในสิ้นปีหน้า
จรวดลองมาร์ช-5บี วาย2 (Long March-5B Y2) ซึ่งขนส่งโมดูลเทียนเหอ (Tianhe) ออกตัวจากศูนย์ปล่อยยานอวกาศเหวินชาง บนชายฝั่งของมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน
ไป่หลินโฮ่ว รองหัวหน้านักออกแบบสถานีอวกาศประจำสถาบันเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน (CAST) สังกัดบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน (CASTC) เปิดเผยว่าโมดูลหลักเทียนเหอ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์การจัดการและควบคุมของสถานีอวกาศเทียนกง โดยมีจุดเชื่อมที่สามารถต่อเชื่อมยานอวกาศพร้อมกันถึง 3 ลำ สำหรับการประจำการระยะสั้น หรือ 2 ลำ สำหรับการประจำการระยะยาว
…
เทียนเหอ ซึ่งเป็นยานอวกาศขนาดใหญ่ที่สุดที่พัฒนาโดยจีน มีความยาวทั้งหมด 16.6 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางสูงสุด 4.2 เมตร และมวลขณะปล่อยตัว 22.5 ตัน
สถานีอวกาศข้างต้นจะมีรูปร่างเหมือนตัวที (T) โดยมีโมดูลหลักอยู่บริเวณตรงกลางและมีแคปซูลห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ขนาบทั้งสองข้าง โดยโมดูลแต่ละส่วนจะมีน้ำหนักมากกว่า 20 ตัน และเมื่อสถานีอวกาศดังกล่าวเชื่อมต่อกับยานอวกาศแบบมีมนุษย์ควบคุมและยานอวกาศขนส่งสัมภาระ น้ำหนักของมันอาจแตะถึงเกือบ 100 ตัน
สถานีอวกาศเทียนกงจะปฏิบัติการในวงโคจรต่ำของโลกที่ความสูงระหว่าง 340-450 กิโลเมตร โดยมีอายุการใช้งานออกแบบ 10 ปี แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามันสามารถปฏิบัติการได้นานกว่า 15 ปี หากมีการบำรุงรักษาและซ่อมแซมอย่างเหมาะสม
“เราจะเรียนรู้วิธีประกอบ ปฏิบัติการ และบำรุงรักษายานอวกาศขนาดใหญ่ในวงโคจร และเราตั้งเป้าสร้างสถานีอวกาศเทียนกงให้เป็นห้องปฏิบัติการอวกาศระดับประเทศ ที่จะสนับสนุนภารกิจระยะยาวของเหล่านักบินอวกาศ และสนับสนุนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้ขนาดใหญ่” ไป่กล่าว
…
“คาดว่าสถานีอวกาศแห่งนี้จะสร้างประโยชน์แก่การพัฒนาและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอวกาศอย่างสันติผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนเพิ่มพูนเทคโนโลยีและประสบการณ์ให้กับการสำรวจห้วงอวกาศลึกของจีนในอนาคต” ไป่เสริม
ในฐานะพื้นฐานของสถานีอวกาศเทียนกง โมดูลหลักเทียนเหอจะช่วยให้บรรดาวิศวกรอวกาศของจีนทดสอบเทคโนโลยีสำคัญหลายอย่าง เช่น ปีกพลังงานแสงอาทิตย์แบบยืดหยุ่นได้ การประกอบและบำรุงรักษาในวงโคจร และระบบค้ำจุนชีวิต (life support system) แบบใหม่
ห่าวฉุน ผู้อำนวยการองค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน (CMSA) กล่าวว่าจีนจะยังส่งยานอวกาศขนส่งสินค้าเทียนโจว-2 (Tianzhou-2) และยานอวกาศแบบมีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-12 (Shenzhou-12) ในปีนี้ เพื่อเชื่อมกับโมดูลหลักของสถานีอวกาศ โดยยานเสินโจว-12 จะมีนักบินอวกาศประจำการ 3 คน และจะอยู่ในวงโคจรเป็นเวลา 3 เดือน
“เราจะขนส่งสิ่งของสนับสนุน ชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ที่จำเป็นก่อน และจะส่งลูกเรือของเราตามไปในภายหลัง” ห่าวกล่าว
นอกจากนี้ จีนจะยังปล่อยยานขนส่งสินค้าเทียนโจว-3 (Tianzhou-3) และยานแบบมีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-13 (Shenzhou-13) ขึ้นสู่อวกาศภายหลังในปีนี้ เพื่อเชื่อมต่อกับโมดูลหลักเทียนเหอ โดยนักบินอวกาศอีก 3 คน จะเริ่มปฏิบัติภารกิจในวงโคจรนาน 6 เดือน
นับถึงปัจจุบัน ระยะเวลาปฏิบัติภารกิจในอวกาศที่ยาวนานที่สุดโดยนักบินอวกาศจีนอยู่ที่ 33 วัน โดยไป่กล่าวว่า “ในหลายภารกิจก่อนหน้า เราส่งน้ำและออกซิเจนสู่อวกาศไปพร้อมกับกลุ่มนักบินอวกาศ แต่ในการปฏิบัติภารกิจระยะเวลา 3-6 เดือนนั้น น้ำและออกซิเจนจะถูกส่งไปบนยานขนส่งสินค้าโดยไม่เหลือพื้นที่สำหรับสัมภาระและวัสดุที่จำเป็นอื่นๆ ดังนั้นเราจึงติดตั้งโมดูลหลักนี้ที่มีระบบค้ำจุนชีวิตแบบใหม่เพื่อรีไซเคิลปัสสาวะ อากาศที่นักบินอวกาศหายใจออกมา และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”
หลังทำภารกิจปล่อยยานอวกาศ 5 ภารกิจในปีนี้ จีนวางแผนปฏิบัติภารกิจอีก 6 รายการในปี 2022 ซึ่งรวมถึงการส่งโมดูลห้องปฏิบัติการเวิ่นเทียน (Wentian) และเมิ่งเทียน (Mengtian) ยานขนส่งสัมภาระ 2 ลำ และยานอวกาศแบบมีมนุษย์ควบคุม 2 ลำ เพื่อก่อสร้างสถานีอวกาศให้แล้วเสร็จ
โจวเจี้ยนผิง หัวหน้านักออกแบบโครงการยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมของจีนกล่าวว่า “เราต้องทำให้แน่ใจว่าการปล่อยยานอวกาศทุกครั้งนั้นวางใจได้ และปฏิบัติการของยานอวกาศในวงโคจรจะมีความปลอดภัย ทุกภารกิจเป็นบททดสอบสำหรับองค์การ การบริหารจัดการ เทคโนโลยี และความสามารถด้านการสนับสนุนของเรา”
ที่มา – ซินหัว