นักเศรษฐศาสตร์ ประเมินสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เบื้องต้นพบว่าส่งผลทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 2,600 ล้านบาท พร้อมแนะภาครัฐควรวิเคราะห์ต้นเหตุและจัดอันดับที่มาของฝุ่นควัน เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวอย่างตรงจุด
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยข้อมูลการประเมินสถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ว่าได้มีการวิเคราะห์จากสมมติฐานด้านเวลาใน 7 – 30 วัน พบว่ามีความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 2,600 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกคือ ค่าใช้จ่ายและค่าเสียโอกาสจากการรักษาพยาบาลหรือการป้องกันตัวเอง โดยคิดจากประชากรที่เป็นโรคภูมิแพ้ในกทม.และปริมณฑล ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านคน และจากประชากรที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวแต่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากอนามัย ในส่วนนี้คาดว่ามีมูลค่าความเสียหายมากถึง 1,600 ล้านบาท
อีกหนึ่งส่วนคือค่าเสียโอกาสจากการท่องเที่ยว ที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย เปลี่ยนสถานที่ท่องเที่ยวเป็นต่างจังหวัดแทนกทม. ซึ่งประเมินความเสียหายไว้ร้อยละ 1 – 2 จากรายได้ที่จะเข้ากทม. หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปกติจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาจำนวนมาก แต่หากเป็นไปตามที่ภาครัฐคาดการณ์ว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองจะยาวไปจนถึงเดือนมีนาคม ก็อาจจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวต่อไปอีก
อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะนำว่าภาครัฐควรวิเคราะห์ที่มาของปัญหาฝุ่นละอองว่าเกิดจากส่วนใดบ้างในสัดส่วนเท่าไหร่ เพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุดในระยะยาว ไม่เช่นนั้นผลกระทบที่ตามมา ประเทศไทยอาจถูกจัดอันดับลดลงในเรื่องของการเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว หรือการแพทย์ ซึ่งส่งผลต่อมูลค่าความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินได้