ประเด็นน่าสนใจ
- “เฉลิมชัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ หารือการยางเตรียมเคาะมาตรการประกันรายได้ชาวสวนยาง มุ่งเน้นแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อระบายยางออกจากตลาดให้ได้มากที่สุด เบื้องต้นเกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับการชดเชยรายได้
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เร่งหามาตรการอื่น ๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพราคายางในระยะยาว หวังให้ประเทศไทยกลับมาเป็นศูนย์กลางของการกำหนดราคายางโลกอีกครั้ง
นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือเรื่องมาตรการประกันรายได้ชาวสวนยาง ร่วมกับ การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร
โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การประชุมในวันนี้เป็นการหารือร่วมกันเพื่อหามาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือชาวสวนยาง
ในเบื้องต้นเกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับการชดเชยรายได้จากการจำหน่ายยางพาราแผ่นรมควันชั้น 3 ไม่ต่ำกว่ากิโลละ 60 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยมีพื้นที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ส่วนยางแผ่นดิบคุณภาพดี 58 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด 56.50/กิโลกรัม เป็นต้น ซึ่งมาตรการประกันราคาดังกล่าวจะเป็นเพียงมาตรการเสริมเท่านั้น
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้ กยท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการอื่น ๆ อีกเพื่อสร้างเสถียรภาพราคายางในระยะยาวได้ โดยใช้งบประมาณของรัฐบาลให้น้อยที่สุด อีกทั้งมุ่งหวังให้ประเทศไทยกลับมาเป็นศูนย์กลางของการกำหนดราคายางโลกอีกครั้ง
นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ อาทิ กระทรวงคมนาคม มีการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมของอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยอื่น ๆ เช่น แผงกั้นจราจร (Barrier) ทำให้สามารถผลักดันยางพาราจำนวน 800,000 ตันออกตลาดได้
ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้กรมชลประทานนำผลผลิตยางพารามาพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน อาทิ บล็อกผักตบชวา ฝายยางพารา โดยจะมุ่งเน้นแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการระบายยางออกจากตลาดให้ได้มากที่สุด
เชื่อมั่นว่าหากได้ดำเนินการตามมาตรการที่ได้หารือกันนั้นจะมียางออกจากตลาดเกินกว่า 1 ล้านตัน และยางในประเทศจะขยับสูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งแนวทางเช่นนี้อาจไม่จำเป็นต้องนำมาตรการประกันรายได้มาเสริมอีก
อย่างไรก็ตามการประชุมในครั้งต่อไป กยท. จะนำเสนอมาตรการต่าง ๆ ที่หารือกันในวันนี้มารายงานให้ชัดเจน อีกครั้ง เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ สร้างความเข้มแข็ง และเป็นกลไกในการสร้างเสถียรภาพราคายางในระยะยาว…นายธนา กล่าว