พะเยา ศรีสุวรรณ จรรยา โรงงานอบผลไม้

ชาวบ้านพะเยาสุดทนโรงงานอบผลไม้พ่นพิษร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน

  เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่14 ส.ค.62 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา  นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน  พร้อมตัวแทนชาวบ้านจากอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบกรณีโรงงานชื่อเจ.เค.ชนาธาร จำกัด ที่ประกอบธุรกิจอบผลไม้แห้ง แปรรูปผลไม้ก่อมลพิษ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลย…

Home / NEWS / ชาวบ้านพะเยาสุดทนโรงงานอบผลไม้พ่นพิษร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน

ประเด็นน่าสนใจ

  • นายศรีสุวรรณ จรรยา และตัวแทนชาวบ้านจากอำเภอเชียงคำ ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบโรงงานอบผลไม้แห้ง ซึ่งก่อมลพิษ
  • ผู้ร้องอ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงมาขอความเป็นธรรมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน
  • เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนไว้เพื่อแก้ปัญหาให้ชาวบ้านต่อไป

 

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่14 ส.ค.62 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา  นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน  พร้อมตัวแทนชาวบ้านจากอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบกรณีโรงงานชื่อเจ.เค.ชนาธาร จำกัด ที่ประกอบธุรกิจอบผลไม้แห้ง แปรรูปผลไม้ก่อมลพิษ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบและมีข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามกฎหมาย  และหากหน่วยงานดังกล่าวไม่ปฏิบัติก็ให้ส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารราลงโทษหน่วยงานเหล่านั้น

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า  ก่อนหน้านี้ชาวบ้านร้องเรียนปัญหาดังกล่าวไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่  โดย อบต.
เชียงบาน อำเภอเชียงคำ เคยมีคำสั่งให้โรงงานหยุดประกอบการแต่ก็หยุดแค่ 7 วันแล้วเปิดตัวใหม่ก็เกิดปัญหาซ้ำเดิม ล่าสุดไปร้องที่อุตสาหกรรมจังหวัด ทั้งที่มีอำนาจสามารถสั่งปิดได้ตาม พ.ร.บ.โรงงาน  แต่ก็กลับมีคำสั่งเพียงให้โรงงานแก้ไขปรับปรุงจึงสงสัยว่าโรงงานเส้นใหญ่เพราะแทนที่จะถูกจำกัดก็กลับมีการขยายโรงงาน

น.ส.วราพร อินต๊ะแสน   หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านที่เดินทางมา กล่าวว่า  ชาวบ้านไม่ได้อยากมาร้องที่นี่ แต่สุดจะทนในพื้นที่มีการซิกแซกเต็มไปหมด ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงงานในปี  2548  ชาวบ้านก็ประสบปัญหาถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ มีควันพิษเพราะโรงงานยังใช้ถ่านหินในการอบผลไม้  เมื่อร้องเรียนก็เปลี่ยนมาเป็นฟืน  ต่อมาในปี 2553 มีการขอขยายโรงงาน  ทำประชาคมหมู่บ้าน  ชาวบ้านก็ไม่ยอมรับ แต่อุตสาหกรรมจังหวัดกลับอนุมัติให้ขยายโรงงานได้  และทำให้โรงงานขยายเข้ามาใกล้หมู่บ้านไม่ถึง  200 เมตร  จากนั้นชาวบ้านก็ประสบปัญหาน้ำในลำน้ำแวนจากที่สามารถนำมาอุปโภคได้ ก็กลายเป็นสีดำ เพราะโรงงานปล่อยน้ำเสียปลาตาย  ไม่มีปลาให้จับ ผักริมน้ำที่เคยเก็บกินได้ก็เก็บไม่ได้

นอกจากนี้ ช่วง2558-2562 มีปัญหาหนักมาก โดยเฉพาะกลิ่นเหม็นที่มาจากบ่อบำบัดน้ำเสียที่เป็นบ่อแบบปิด ทำให้เกิดก๊าช ชาวบ้านจึงห่วงว่าอาจจะเกิดการระเบิดหรือไม่  ร้องเรียนไปที่อุตสาหกรรมจังหวัดก็เพียงสั่งให้โรงงานหยุดอบมะม่วง แต่โรงงานยังสามารถอบลำไยได้อยู่    ทุกวันนี้ช่วงเย็นไม่สามารถเปิดหน้าต่างรับลม ไม่ได้แล้ว   เพราะจะมีกลิ่นเหม็นกระจายคุ้มไปทั่วทั้งสองหมู่บ้านที่อยู่ข้างโรงงาน

น.ส.วราพร  ยังเปิดเผยว่าล่าสุดกรมควบคุมมลพิษได้ลงไปเก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจ และทราบเบื้องต้นว่าผลการตรวจพบว่าน้ำในลำห้วยมีสารปนเปื้อน  แต่ก็ไม่รู้ว่าจะจริงไหม เพราะต้องเอกสารอย่างเป็นทางการ ประกอบกับหน่วยงานต่างที่ลงไปตรวจสอบก่อนหน้านี้ ก็จะระบุว่าไม่พบอะไรที่เป็นปัญหา

อย่างไรก็ตามทางผู้ร้องได้แสดงความกังวลในกรณีที่ผู้ตรวจฯจะลงไปตรวจสอบซึ่งจะต้องมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อร่วมตรวจสอบด้วยนั้น เกรงว่าจะมีการจัดฉาก และให้โรงงานเตรียมตัว เพราะที่ผ่านมาเมื่อหน่วยงานใดจะไปตรวจสอบ ทางโรงงานจะขอเวลา 5-7 วันในการเตรียมตัว ซึ่งเมื่อไปตรวจสอบก็จะไม่พบปัญหาใด  อีกทั้งหากมีการให้ไกล่เกลี่ยสองฝ่าย ปัญหาก็จะหยุดไปสักพัก แล้วก็จะเกิดปัญหาขึ้นอีก ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเด็ดขาด

น.ส.ณพิชญา ขายสระน้อย เจ้าหน้าที่สอบสวนผู้ชำนาญการ สำนักตรวจสอบเรื่องร้องทุกข์ ฯ เป็นผู้รับเรื่องไว้เพื่อตรวจสอบและเสนอผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาสั่งการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านต่อไป