กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยงบประมาณที่ได้รับจัดสรรเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ จำนวน 25,825 ล้านบาท ใช้ในการเยียวยา จัดหายาและวัคซีน รักษาและควบคุมโรค เตรียมสถานพยาบาล และรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน ระบุใช้งบไปร้อยละ 33.28 หรือ 5,859 ล้านบาท เหลืองบรอจัดสรร 8,215 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2564 นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า สธ. ได้รับเงินจัดสรรจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ โควิด-19 หรือพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 25,825 ล้านบาท สำหรับใช้ใน 39 โครงการ โดยเป็นโครงการจากหน่วยงานในสังกัด สธ. 25,175 ล้านบาท และหน่วยงานนอก ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โรงพยาบาลพระมงกุฎ โรงพยาบาลตำรวจสำนักอนามัย กทม. จำนวน 650 ล้านบาท เพื่อดำเนินการใน 5 แผนงาน ดังนี้
- ค่าเยียวยา ค่าชดเชย ค่าเสี่ยงภัย อสม. 4,726 ล้านบาท
- จัดหายา วัคซีน ห้องปฏิบัติการ โดยกรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีน 2,655 ล้านบาท
- การบำบัดรักษา ป้องกัน ควบคุมโรคและการวิจัย โดย สปสช. 6,764 ล้านบาท
- เตรียมสถานพยาบาลในการรักษาและกักตัวผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ 10,182 ล้านบาท
- รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินการระบาด 1,496 ล้านบาท
นายแพทย์สุระ กล่าวว่า มีโครงการที่ได้รับจัดสรรเงินไปแล้ว 13 โครงการ วงเงิน 17,610 ล้านบาท ได้แก่ ค่าบริการสาธารณสุข ค่าตอบแทน อสม. อุปกรณ์ห้องแยกโรค พัฒนาระบบบริการสุขภาพ จัดซื้อชุด PPE, Isolation Gown, N 95, Mask, วัคซีนโควิด 19, วัสดุควบคุมป้องกันโรค, เครื่องฉายรังสีรักษา พัฒนาห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ คุณภาพวัคซีน และค่าปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์
ข้อมูล ณ วันที่ 16 เม.ย. 2564 ได้ดำเนินการเบิกจ่ายไปแล้ว 5,859 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.28 ทั้งนี้ ยังมีโครงการที่รอจัดสรรอีก 26 โครงการ วงเงิน 8,215 ล้านบาท และมีวงเงินเหลือ 19,174 ล้านบาท
“การใช้เงินที่ได้มามีแผนการใช้ชัดเจน ครอบคลุมทุกมิติทั้งการควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาล รวมถึงการวิจัยพัฒนา การจ่ายค่าตอบแทนค่าเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่ ทำให้เรามียารักษาโรค มีวัคซีนเพียงพอกับกลุ่มเป้าหมาย มีการเพิ่มเตียง ขยายเตียงรักษาในรูปแบบต่างๆ รองรับผู้ป่วย และผู้ติดเชื้อเหมาะสมกับอาการ เจ้าหน้าที่มีขวัญกำลังใจดูแลประชาชน โดยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย รัฐ เอกชน ประชาชน ที่สำคัญงบประมาณที่นำมาใช้ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การระบาดของโรค เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ดีที่สุด” นายแพทย์สุระกล่าว